สุขภาวะที่ทำงาน ชีวิตดีวิถีใหม่

Last updated: 31 ก.ค. 2563  |  1176 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สุขภาวะที่ทำงาน ชีวิตดีวิถีใหม่

     คุณเคยรู้สึกมั้ยว่า เราเป็นอะไรก็ได้ในที่ทำงาน ได้เป็นตัวของตัวเอง บรรยากาศการทำงานถ้อยทีถ้อยอาศัย ร่วมแรงร่วมใจ พูดคุยกันได้ทั้งวันไม่มีเบื่อ เวลา 7-8 ชั่วโมงรู้สึกผ่านไปอย่างรวดเร็ว นั่นเป็นสัญญาณว่า ออฟฟิศของคุณน่าอยู่น่าทำงาน

     ในทางกลับกัน หากคุณมาทำงานทุกวัน แต่ความสุขมีอยู่แค่วันเดียว คือวันที่เงินเดือนออก แต่ละวันเอาแต่นั่งมองนาฬิกา รอว่าเมื่อไหร่จะหมดเวลา เพราะรู้สึกเบื่อคนเบื่องาน นั่นเป็นสัญญาณเตือนว่า ออฟฟิศเริ่มไม่น่าทำงาน และที่แย่ไปกว่านั้น มันอาจจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคุณด้วย

     เช่นนั้นแล้ว เมื่อที่ทำงานมีความสำคัญขนาดนี้ แล้วที่ทำงานที่ดีควรจะเป็นอย่างไร? และในอนาคตรูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไปหรือไม่?          

     นับเป็นโอกาสดีที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักพิมพ์ bookscape จัดเสวนา “ศาสตร์และศิลป์แห่งการสร้างที่ทำงานชั้นยอดในโลกยุคใหม่ The Best Place to Work - ที่ (น่า) ทำงาน” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว  และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน

     “นางสาวณัฐยา บุญภักดี” ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เล่าว่า คนวัยแรงงานต้องอยู่ในที่ทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ยังไม่นับรวมเวลาการเดินทาง ดังนั้นเวลาคุณภาพที่จะมีให้กับสมาชิกในครอบครัวย่อมลดน้อยลง

     แต่ถ้าหากสามารถเปลี่ยนเวลา 8-10 ชั่วโมงนั้น ให้กลายเป็นเวลาทำงานที่มีสมดุลกับการดูแลสุขภาวะพนักงาน เชื่อว่าโรคยอดฮิตของคนทำงาน อย่างออฟฟิศซินโดรมจะลดลง ยิ่งถ้าได้การงีบหลับกลางวันซัก 15 นาที ตื่นมารับรองว่าสมองจะปลอดโปร่ง ทำงานดีไม่มีเครียด ความกระตือรือร้นในการพัฒนางานมากขึ้น ขณะที่อัตราการขาดลามาสาย หรือแม้แต่การลาออกจะลดลง

     “บทบาทของสถานที่ทำงานมีความสำคัญ ในแง่ของการช่วยสร้างเงื่อนไขการใช้ชีวิต ให้ลูกจ้างสามารถทำหน้าที่ต่อครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นลูก ๆ หรือพ่อแม่ที่เข้าสู่วัยชรา สสส.อยากเห็นว่าเมื่อรัฐมีนโยบายสนับสนุนครอบครัวเข้มแข็งอบอุ่น ก็ควรสนับสนุนให้หน่วยงาน ช่วยสร้างเงื่อนไขการทำงาน ที่เอื้ออำนวยต่อการทำบทบาทหน้าที่ของคนทำงาน ในฐานะผู้ดูแลครอบครัวด้วย” นางสาวณัฐยา กล่าว

     ด้าน “รศ.ดร.พิภพ อุดร” อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และอดีต ผอ.สถาบันทรัพยากรมนุษย์ ม.ธรรมศาสตร์ เล่าให้ฟังว่า วิธีคิดเรื่องงานกับชีวิตส่วนตัวเป็นเรื่องของเจเนอเรชั่น คนแต่ละวัยแต่ละรุ่นคิดไม่เหมือนกัน คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัว คือถ้างานไม่เข้ากับชีวิตก็พร้อมจะเปลี่ยนงานใหม่ ยิ่งมีสถานการณ์ของโควิด-19 เข้ามาเกี่ยวข้อง ออฟฟิศจะไม่ค่อยมีความหมายแล้ว เพราะสามารถทำงานจากที่ไกลหรือจากที่ไหนก็ได้

 

สำหรับทิศทางการทำงานยุค NEW NORMAL ที่ทำงานจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ

1. ไม่จำเป็นต้องมีออฟฟิศ ทุกที่สามารถเป็นที่ทำงานได้ ทุกตำแหน่งสามารถทำงานที่ใดก็ได้ บริษัทจะมีพื้นที่เท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีห้องทำงานของฝ่ายต่างๆ อีกต่อไป

2. ทำงานเป็นแบบสัญญาจ้างมากขึ้น บริษัทจะไม่ใช่เจ้าชีวิตอีกต่อไป แต่จะเป็นการทำงานด้วยความรับผิดชอบ ให้ได้ตามเป้าหมายที่บริษัทวางไว้

3. มีความยืดหยุ่นในการทำงาน เช่น ไม่ให้ความสำคัญกับเวลาเข้าออกที่ทำงาน แต่ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ความสำเร็จของงาน

4. เปิดทางเลือกในการทำงาน เพราะเงื่อนไขการทำงานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ไม่ทำนโยบายเดียวเพื่อให้ทุกคนอยู่ภายใต้การปฏิบัติเหมือนกัน

5. มีความท้าทาย ส่งเสริมให้กล้าลองผิดลองถูก จะดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้สนใจร่วมงานด้วย เพราะเงินเดือนอาจจะไม่ใช่สิ่งจูงใจเหมือนในอดีต

     สอดคล้องกับ “นายรวิศ หาญอุตสาหะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด เล่ามุมมองว่า มีรูปแบบการทำงานเป็นทีมย่อยๆ โดยจะให้แต่ละทีมไปคุยกันเองว่า งานนี้จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศหรือไม่ เช่น งานที่ต้องระดมความคิดสร้างสรรค์ ก็อาจจะต้องมาทำที่ออฟฟิศ ส่วนงานที่ทำคนเดียวได้ก็ให้ไปทำงานที่บ้าน ซึ่งนโยบายนี้พนักงานค่อนข้างพอใจ

     นายรวิศ เล่าต่อว่า วัฒนธรรมองค์กรของเรา จะไม่กลัวความล้มเหลว แต่จะสนับสนุนให้พนักงานทดลองและเรียนรู้จากความผิดพลาด หลายๆ กรณีทางบริษัทให้รางวัลหรือจัดเลี้ยงกับความล้มเหลวนั้น เพื่อให้พนักงานเห็นว่าเป็นเรื่องสร้างสรรค์ที่ทำได้

     “สิ่งที่พยายามทำมาตลอด คือการให้เวลาพูดคุยกันมากขึ้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ระยะหลังมานี้งานเสร็จเร็วขึ้น ไม่ใช่เพราะเราทำงานหนักขึ้น แต่เกิดจากการจัดการกับภาระงานที่ไม่จำเป็น แล้วเราเอาเวลาที่เหลือมาพูดคุยกัน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ สิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานมีความผูกพัน และเชื่อมโยงกับองค์กรตลอดเวลา”   นายรวิศ กล่าวทิ้งท้าย

     “งานได้ผล คนก็เป็นสุข” น่าจะเป็นผลตอบแทนสำหรับที่ทำงาน ที่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างคนกับงานได้อย่างลงตัว สสส. ขอสนับสนุนความท้าทายของการสร้างสุขภาวะในองค์กร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทำงานทุกคน

------------------------------------------------------

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลประกอบจาก    หนังสือที่ (น่า) ทำงาน THE BEST PLACE TO WORK

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้