เรื่องของหัวใจ ยังไงก็สำคัญ

Last updated: 24 ต.ค. 2563  |  1106 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เรื่องของหัวใจ ยังไงก็สำคัญ

     รู้หรือไม่ว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจมากถึง 9.2 ล้านคน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โรคหัวใจเป็นหนึ่งในกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคติดต่อไม่เรื้อรัง

     สาเหตุส่วนใหญ่ของการป่วยด้วยโรคหัวใจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเรา พฤติกรรมเสี่ยงส่งผลมากที่สุดคือ “การสูบบุหรี่” เพราะสารพิษกว่า 7,000 ชนิดในบุหรี่ จะขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้หัวใจได้รับออกซิเจนน้อยไม่เพียงพอ ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ซึ่งสารนิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ในบุหรี่ จะเพิ่มความหนืดของเกล็ดเลือดและทำให้เกิดลิ่มเลือด  เกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจอุดตัน ทำให้เกิดหัวใจวายเฉียบพลัน

     นอกจากพฤติกรรมเสี่ยงการสูบบุหรี่แล้ว ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคหัวใจ ได้แก่ มีภาวะความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดผิดปกติ ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ภาวะอ้วนลงพุง ไม่ออกกำลังกาย ไม่กินผักและผลไม้ และมีความเครียดสะสม

 
อาการเหล่านี้บ่งบอกได้ว่าเราอาจเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจได้ มาเช็กกัน

·         เหนื่อยง่ายผิดปกติ

·         พูดลำบาก ปากเบี้ยว

·         มีการแขน ขา ชาใช้งานไม่ได้ อ่อนแรงเฉียบพลัน

·         ปวดหน้าอกข้างซ้ายร้าวไปถึงแขนซ้าย


     ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวถึงผลกระทบจากการสูบบุหรี่ที่มีผลต่อหัวใจว่า “จะเห็นได้ว่าผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่มีอัตราที่ลดลง แต่นักสูบหน้าใหม่กลับเพิ่มขึ้น มีความคิดที่ว่าถ้าอยากเลิกบุหรี่ต้องหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน อันนี้ถือว่าเป็นความคิดที่ผิด เพราะในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินและสารพิษอื่นๆ อีกมากมายหากร่างกายได้รับสารพิษเป็นเวลานานจะส่งผลร้ายโดยตรงทั้งตัวคนสูบและคนรอบข้าง"

     ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า บุหรี่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งการรับควันบุหรี่มือสองยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบได้ โดยการรับควันบุหรี่มือสองเพียง 30 นาที ก็เกิดอันตรายต่อเยื่อบุหลอดเลือด และทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง เป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตจากจากโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองปีละกว่า 2,615 คน

 
การดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

·         หลีกเลี่ยงอาหารหวาน อาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และอาหารเค็มจัด

·         กินอาหารที่มีไขมันน้อย

·         ลดอาหารหวานจัด เค็มจัด

·         ออกกำลังกายเป็นประจำ

·         หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่

·         นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด

·         ควบคุมน้ำหนัก

·         ตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง


     โรคหัวใจและหลอดเลือดป้องกันได้ หากทุกคนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ ด้วยการปรับพฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ออกกำลังกายให้มากขึ้น สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนและรณรงค์ให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ห่างไกลจากกลุ่มโรค NCDs ลดการเสียชีวิต สร้างสุขภาวะที่ดีให้สังคมไทย

เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้