สานพลังคนไทย ร่วมใจสร้างสังคมอากาศสะอาด

Last updated: 28 ก.ย. 2564  |  674 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สานพลังคนไทย ร่วมใจสร้างสังคมอากาศสะอาด

     “เมืองหลวงควันและฝุ่นมากมาย พี่สูดดมเข้าไปร่างกายก็เป็นภูมิแพ้” เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินส่วนหนึ่งของเนื้อเพลง "ภูมิแพ้กรุงเทพ" แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ หรือพื้นที่เขตเมืองเท่านั้น ที่มีปริมาณฝุ่นจิ๋ว PM2.5 สะสมในปริมาณสูง แต่หลายพื้นที่ในทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งในระดับโลก ต่างก็ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ไม่ต่างกัน

     ด้วยเหตุนี้ทุกวันที่ 22 กันยายนของทุกปี จึงถูกกำหนดให้เป็นวัน Car Free Day เพื่อร่วมรณรงค์ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดปริมาณจำนวนรถยนต์ในท้องถนน ซึ่งส่งผลถึงการลดปัญหามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะ และยกระดับคุณภาพอากาศให้ดีขึ้น

     ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 เป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เหมือนอย่างชื่อ แต่ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งปัญหาในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศด้วย แหล่งกำเนิดของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 นั้นมาจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่ของสาเหตุการเกิดปัญหาทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่มาจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น ไอเสียจากยานพาหนะ โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรม การเผาพื้นที่การเกษตร เตาเผาขยะ ไฟป่า และหมอกควันข้ามแดน

     ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 จึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไขปัญหานี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ จึงก่อให้เกิดวาระสำคัญอย่าง เวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วย การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อนำมาสู่ข้อเสนอการปฏิบัติการในพื้นที่ และข้อเสนอเพื่อเสริมพลังการจัดการปัญหา ที่ครอบคลุมประเด็นต่าง ๆ รอบด้าน

     นโยบายสาธารณะว่าด้วยการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ มุ่งสร้างพื้นที่กลางของทุกภาคส่วนในสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมและขับเคลื่อนการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในทุกมิติ ครอบคลุมประเด็นด้านกฎหมายและนโยบายด้านการจัดการป้องกันและลดปัญหาจากต้นเหตุ รวมไปถึงลดการเผาป่า เผาในที่โล่ง และผลิตผลทางการเกษตร ด้านการขับเคลื่อนและบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ด้านวิชาการพัฒนาองค์ความรู้ ข้อมูลและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยข้อตกลงร่วม หรือพันธะสัญญานี้ ใช้เป็นแนวทางร่วมกันดำเนินการของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

     นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า มลพิษทางอากาศจากฝุ่น P.M2.5  เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่สะสมมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี จากข้อมูลการตรวจสอบคุณภาพอากาศ โดยศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เมื่อเดือนมีนาคม 2564 พบว่า ทุกภูมิภาคมีปริมาณฝุ่น P.M2.5 เกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยภาคเหนือตรวจวัดได้สูงสุดอยู่ที่ 166 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกว่า 5 เท่า

     การจัดงานสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้  จึงเน้นการจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ สวมบทบาทเป็นทั้งผู้สร้าง ผู้กำหนด และผู้รับประโยชน์จากนโยบายสาธารณะ โดยร่วมพิจารณาร่างมติสมัชชาต่อประเด็นมลพิษทางอากาศจากฝุ่น P.M2.5  ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพร่วมกัน เพื่อใช้เป็นแนวทางการรับมือกับปัญหามลพิษทางอากาศที่จะเกิดขึ้นในปี 2565

     นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหา PM2.5 ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ และพยายามขับเคลื่อนการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความร่วมมือจากการสานพลังของทุกภาคส่วน จนเริ่มเห็นผลการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น ค่าเฉลี่ยของ PM2.5 และปริมาณจุดความร้อนหรือ Hotspot ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น

     นอกจากการให้ความสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างการบริหารจัดการแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญในเรื่องของแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5  ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจรในเขตเมือง หรือปัญหาการเผาป่า เผาพื้นที่ทางการเกษตรนอกเขตเมือง อาทิ การสนับสนุนให้ตัดอ้อยที่ไม่ผ่านการเผา การปรับเปลี่ยนน้ำมันให้อยู่ภายใต้มาตรฐานยูโร 5 ภายในปี 2567 ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ให้ปลดปล่อย PM2.5 ให้น้อยที่สุด แคมเปญตรวจเช็กรถยนต์ในราคาพิเศษก่อนฤดูกาลฝุ่น การติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่นควันที่ปล่องควันของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

   ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 อาจเป็นปัญหาใหญ่ แต่เราก็สามารถช่วยกันสร้างสังคมอากาศสะอาด ลดการก่อมลภาวะทางอากาศได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีต่อไปนี้

1. เลิกสูบบุหรี่

2. ปลูกต้นไม้รอบบ้าน

3. ลดหรือเลิกการใช้อุปกรณ์ที่มีสารประกอบของสารที่ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก

4. เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ

5. ลดการเผาวัสดุทางการเกษตร และนำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ

6. ลดการเผาขยะ เปลี่ยนเป็นการแยกขยะ และรวบรวมขยะที่รีไซเคิลได้ไปขาย เพื่อสร้างรายได้

7. ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วสำหรับรถเครื่องยนต์เบนซิน หรือน้ำมันดีเซลกลั่นอุณหภูมิต่ำสำหรับรถเครื่องยนต์ดีเซล

     นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ฝุ่น PM2.5 กลายเป็นต้นเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย โดยเฉพาะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ  สสส. ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมุ่งสานพลัง      ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการทำงานตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับนโยบาย ที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับสภาลมหายใจ 8 จังหวัดภาคเหนือ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมทำงานอย่างทุ่มเท แก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในระดับภูมิภาค เช่น ลดการเผาภาคเกษตร จัดทำแนวกันไฟชุมชน สานพลังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน

     ดังนั้น การร่วมกันกำหนดทิศทางนโยบายเพื่อผลักดันการจัดการปัญหา โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายที่จะหายใจด้วยอากาศสะอาดอย่างเท่าเทียมกัน จะสามารถสะท้อนปัญหา ความต้องการ วิธีแก้ไข ที่มาจากความคิดเห็นและการมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอทางนโยบายระดับท้องถิ่นและระดับชาติด้วยมาตรการและแนวทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

     “เพราะเรามีลมหายใจเดียวกัน การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 จึงเป็นเรื่องของทุกคน” สสส.ให้ความสำคัญกับการป้องกันทุกปัญหาที่เกี่ยวกับการสร้างสังคมสุขภาวะ และเชื่อมั่นว่าพลังเล็ก ๆ จากการเริ่มต้นที่ตัวเรา จะนำไปสู่พลังที่ยิ่งใหญ่ จนเกิดการสานพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สามารถนำพาสังคมไทยไปสู่อนาคตแห่งการเป็นสังคมอากาศสะอาด และปลอดมลพิษได้อย่างยั่งยืน

-------------------------

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก เวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วย การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และจุลสารชีวิตติดฝุ่นอันตราย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้