5 ขั้นตอนเลิกบุหรี่-เหล้าแบบหย่าขาด เริ่มต้นสิ่งดีๆในวันมาฆบูชา

Last updated: 15 ก.พ. 2565  |  987 จำนวนผู้เข้าชม  | 

5 ขั้นตอนเลิกบุหรี่-เหล้าแบบหย่าขาด เริ่มต้นสิ่งดีๆในวันมาฆบูชา

     16 กุมภาพันธ์ วันมาฆบูชา ปีนี้ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือนสาม เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก ซึ่งพระสงฆ์เหล่านั้นมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายจำนวน 1,250 รูป โดยโอวาทปาติโมกข์นั้น ถือเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา โดยเนื้อหาโดยสรุปนั้น คือ การละเว้นความชั่ว มุ่งทำความดีให้ถึงพร้อมและทำจิตใจให้ผ่องใส และเนื่องในวันมาฆบูชา หรือวันพระใหญ่นี้ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสดีๆถือเอาวันนี้เป็นวันเริ่มต้นสิ่งดีๆ เช่น การเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ด้วยตัวเราเอง วันนี้เราจึงขอนำแนวคิดดีๆเกี่ยวกับการเลิกขาดจากบุหรี่ เหล้า  5 ขั้นตอนมาฝากกัน

5 ขั้นตอนหย่าขาดจากบุหรี่แบบไม่หวนกลับ คือ ใช้คู่ปรับ นับโทษภัย ไม่รับรู้ ดุจางคลาย ใจบังคับ

ใช้คู่ปรับ

    หมายถึง เมื่อมีความคิด ความอยากดื่มเหล้า สูบบุหรี่ อยากกินอาหารอร่อยเกิน เกิดขึ้น ก็ให้คิดถึงเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความคิด ความอยากนั้นๆ หรือเป็น “คู่ปรับ” ของความอยากดังกล่าว เช่น ความคิด ความอยากดื่มเหล้า ให้คิดถึงเรื่องของดื่มนม ดื่มน้ำผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพดื่มแล้วสดชื่น มีความสุข ไม่หงุดหงิด ไม่เครียด จนสามารถละทิ้งความคิด ความอยากดื่มเหล้า สูบบุหรี่นั้นได้



นับโทษภัย

     ถ้าใช้คู่ปรับแล้ว ยังไม่สามารถเอาชนะความอยากฯ ได้ ก็ให้นึกคิด ระลึกถึงโทษภัยของเหล้า-บุหรี่ เช่น เสื่อม-เสีย (เสื่อมทรัพย์ สร้างศัตรู ไม่รู้อาย เสียชื่อ ซื่อบื้อ เหล้า-บุหรี่ คือโรค) จนความคิด ความอยากดื่มเหล้า สูบบุหรี่ จางหายไปเอง



ไม่รับรู้

     ถ้าใช้การนับโทษภัยแล้ว เห็นโทษของการดื่มเหล้า-สูบบุหรี่แล้ว ยังไม่สามารถเอาชนะความอยากได้ ก็ไห้ไม่คิด ไม่นึก ไม่ใส่ใจ ไม่รับรู้ โดยการปิดตา ปิดหู ปิดจมูก ปิดปาก เดินหนีไปเสีย ความอยาก ความคิด ดื่ม สูบ เสพ ก็จะค่อยๆ หมดไป จางหายไป

ดุจางคลาย

     ถ้าใช้การไม่รับรู้แล้ว ความคิด ความอยากดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็ยังเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ให้สังเกตดูความจางคลายค่อยๆ หายไป ของความคิด ความอยาก ความรู้สึกนั้นๆ ว่า เมื่อไม่มีเหตุปัจจัยกระตุ้นความคิดความอยาก ดื่มเหล้า สูบบุหรี่แล้ว ความคิด ความอยาก ความรู้สึกอยาก ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ก็จะจางคลายหายไปได้เอง

ใจบังคับ

     ถ้าใช้การดุจางคลายแล้ว ความคิด ความอยากดังกล่าวยังไม่หายไปหมด ก็ต้องใช้วิธีสุดท้ายโดยการบังคับใจ เอาลิ้นดันเพดานปากด้านบนไว้ กัดฟันด้วยฟัน ข่ม บีบคั้น บังคับใจตนเองด้วยใจว่า จะไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เอื้อมมือไปหยิบแก้วเหล้า ไม่เอาบุหรี่ใส่ปาก โดยมีกำลังใจจากคนรอบข้างที่เรารัก

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่คิดอยากจะเลิกบุหรี่-เหล้า เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเลิกด้วยวิธีใด หากกำลังใจและความตั้งใจของท่านเต็มเปี่ยม ทุกท่านทำได้แน่นอน

     และเนื่องในวันมาฆบูชา โครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพจึงขอเชิญชวนให้ประชาชน แรงงาน พนักงานทุกท่านหันมาสร้างบุญและเริ่มต้นปฏิบัติแต่สิ่งที่ดี โดยกิจกรรมต่างๆที่ควรปฏิบัติ ในวันมาฆบูชาเกี่ยวกับครอบครัวและสถานที่ทำงานมีดังนี้

     • การทำความสะอาดบ้าน จัดแต่งที่บูชาประจำบ้าน ชักชวนครอบครัวไปทำบุญตักบาตร ฟังศีล ฟังธรรม บำเพ็ญกุศล ปฏิบัติธรรม รวมทั้งควรศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอน

    • สถานที่ทำงานควรประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ข้อธรรมะและหลักคำสอนหรือจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน เพื่อสร้างบุญสร้างกุศลร่วมกัน

            ทั้งนี้ไม่ว่าเราจะเข้าร่วมกิจกรรมสถานที่ใด ควรคำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 ด้วย อาทิ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เดินตามเส้นทางที่กำหนด (เว้นระยะห่าง) ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ เป็นต้น เพื่อสุขภาพของตัวคุณเองและคนในสังคม

     วิกฤติการณ์นี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ แต่จิตใจที่ผ่องใส ในร่างกายที่แข็งแรง สมบูรณ์ จะทำให้พวกเรามีพลังที่จะใช้ชีวิตกันต่อไปอย่างมีความสุขในทุกๆวันนั่นเอง

#มาฆบูชา #โครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ #สุขภาวะแรงงาน

#เลิกบุหรี่-เหล้า #แรงงานสุขภาพดีมีสุข #สพส


ขอบคุณข้อมูลจาก


     - www.dmh.go.th/news/view.asp?id=2438

    - www. intrend.trueid.net/article/ข้อดีของการรักษาศีล-trueidintrend_43779

    - www.korathealth.com/korathealth/slideshow/showdetail.php?id=1

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้