จัดที่สูบบุหรี่อย่างไรให้ได้แบบ 2 IN 1 (จุดสูบและจุดสร้างแรงจูงใจให้เลิกสูบในที่เดียวกัน)

Last updated: 11 เม.ย 2565  |  4323 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จัดที่สูบบุหรี่อย่างไรให้ได้แบบ 2 IN 1 (จุดสูบและจุดสร้างแรงจูงใจให้เลิกสูบในที่เดียวกัน)

     ปัจจุบัน กรมควบคุมโรค กองกฎหมาย  กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดสถานที่สูบบุหรี่เกิดขึ้นตาม พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลใช้บังคับวันที่ 4 กรกฎาคม 2560  ตามมาตรา 44 สภาพและลักษณะเขตสูบบุหรี่ กฎหมายนี้กำหนดขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่เอื้ออำนวยให้กับผู้ที่สูบบุหรี่และป้องกันสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ให้ปลอดภัยจากพิษ ที่มาจากควันบุหรี่มือสอง ป้องกันการเกิดนักสูบหน้าใหม่ ขยะที่เกิดหลังจากการสูบบุหรี่ เช่นก้นบุหรี่ ที่จะไปอุดท่อน้ำ หรือกระทั้ง เกิดภูมิทัศน์ที่ไม่สะอาดจากขี้บุหรี่ และสถานที่สูบบุหรี่ จะต้องประกอบไปด้วย

1)      มีเครื่องหมายเขตสูบบุหรี่ แสดงไว้ให้เห็นได้โดยชัดเจน
2)      ไม่อยู่ในบริเวณทางเข้าออกของสถานที่ / ยานพาหนะ หรือในบริเวณอื่นใดอันเปิดเผยเห็นได้ชัด
3)      มีพื้นที่เป็นสัดส่วนชัดเจน มีการระบายอากาศที่เหมาะสม และไม่มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้อื่น
4)      แสดงสื่อรณรงค์เพื่อการลด ละ เลิกการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ ..


ตัวอย่างพื้นที่เขตสูบบุหรี่ในสถานประกอบการ


     จะดีแค่ไหนหากเราสามารถใช้พื้นที่สูบบุหรี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเลิกบุหรี่ โดยสอดแทรก การส่งเสริมการเลิกการสูบบุหรี่ เข้าไปด้วย เพราะผู้สูบบุหรี่บางคนอาจจะมีความต้องการที่จะเลิกอยู่แล้ว แต่พอไปถึงที่สูบบุหรี่และได้เห็นการณรงค์ !!! อาจจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนใจไปสู่การเลิกสูบได้ เรามาลองดูกันดีกว่า ว่าเราจะเปลี่ยนจากที่ สูบเป็นที่เลิกได้อย่างไร

  1. การรณรงค์ในแบบที่ครอบคลุม มากกว่าสูบแล้วอันตรายต่อสุขภาพ
              มีการรณรงค์ ที่ช่วยกระตุ้มนอกเหนือจากปัญหาสุขภาพ เช่น เลิกสูบแล้วรวย จากเพจ  Facebook: Friendnancial – การเงินภาษาเพื่อน เพราะเป็นการสร้างแรงจูงใจ ว่าสุขภาพดี เงินก็ดีตามมาด้วย เพราะมีทั้งเงินเก็บ และไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล จากการสูบบุหรี่ตอนสูงวัยอีกด้วย

       หรืออาจจะมีช่องทางในการส่งเสริมการเลิกบุหรี่อย่างชัดเจน เช่น การสร้างการรู้จักกับบริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์กับสายเลิกบุหรี่ 1600  ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นสถานที่จัดสูบบุหรี่ แต่หากมีช่องทางในการเลิกบุหรี่ สำหรับจูงใจให้ผู้ที่อยากเลิกบุหรี่รับทราบว่ามีเครื่องมือที่สะดวกต่อการช่วยเลิกบุหรี่อาจจะมีส่วนช่วยให้ตัดสินใจเลิกได้ง่ายขึ้น

         2. การวางตำแหน่งที่ชัดเจน เพื่อให้ฉุกคิดว่าเลิกบุหรี่แล้วดีแค่ไหน
          เป็นการวางตำแหน่งแผ่นป้ายที่สังเกตได้ง่าย เป็นคำเชิญชวน หรือให้กำลังใจผู้ที่สูบว่าเขาทำได้ถ้าอยากจะเลิก  อาทิเช่น  “พ่อจ๋า ทำได้ แค่หยุดสูบ”  “คนที่เก่ง คือ คนที่ลงมือทำเลย เราเชื่อ คุณทำได้”คำเหล่านี้เป็นกำลังใจได้อย่างดีและที่สำคัญ คือ ผู้ที่สูบบุหรี่ จะไม่รู้สึกว่า “เขาต่อสู้เพียงลำพัง เพราะมีอีกหลายคนที่ให้กำลังใจ และร่วมสู้ไปกับเขาด้วย”

          3. อุปกรณ์ตัวช่วย ต่อสู้กับบุหรี่
          โดยปกติแล้วพื้นที่ที่อนุญาตให้สูบบุหรี่ เรามักจะพบเจอ “ที่เขี่ยบุหรี่” ซึ่งเป็น “อุปกรณ์ที่ส่งเสริมความสะอาดในพื้นที่ แต่ไม่ได้ส่งเสริมให้เราช่วยเลิก” ในส่วนของทางเข้าหากเราเพิ่มเติมอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมการ ลดการสูบบุหรี่หรือทำให้เวลาในการสูบลดลง โดยการประยุกต์จากหลักการ 5D  เช่น หน้าห้องอาจจะมีผลไม้หรือลูกอมรสเปรี้ยววางไว้สำหรับผู้ที่ต้องการอยากจะลดการสูบบุหรี่หรือแม้กระทั่งน้ำสมุนไพร ที่จะช่วยให้ “สูบบุหรี่ไม่อร่อย” และลดปริมาณการสูบลง ก็เป็นอีกตัวเลือกที่ไม่ดีอย่างหนึ่ง ในการเลิกบุหรี่

      การจัดพื้นที่เขตปลอดบุหรี่และเขตสูบบุหรี่เป็นจุดเริ่มต้นในแง่ของการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อนำไปสู่กระบวนการส่งเสริมพนักงานให้เริ่มต้นหันมาเลิกบุหรี่ และสุดท้ายนี้เราหวังว่า “จุดสูบบุหรี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจเลิกบุหรี่ได้” อาจจะจริงที่การเดินไปบอกเขานั้นง่ายกว่า แต่ผลที่ได้กลับมาอาจจะน้อยกว่า วิธีการที่เป็นทางเลือกอื่นๆ เช่น การทำให้เขารู้ว่าเลิกบุหรี่แล้วดีแค่ไหนด้วยการสร้างแรงจูงใจที่ดี และที่สำคัญ คือ การสื่อถึงใจผู้ที่ยังสูบบุหรี่ มอบความหวังดีที่จะส่งไปถึงผู้สูบบุหรี่ว่า “ยังมีคนให้กำลังใจในการเลิกสูบบุหรี่” ของเขาด้วย

#โครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพ #แรงงานสุขภาพดี #เดินหน้าเพื่อสุขภาวะที่ดีของแรงงาน #คณะทำงานสร้างเสริมสุขภาพแรงงาน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ผู้เขียน นายเรวัต ยิ้มวิไล เจ้าหน้าที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ฝ่ายส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้
สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม    

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้