รู้ทันปัจจัยเสี่ยง เรื่อง บุหรี่

Last updated: 16 มิ.ย. 2561  |  1811 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รู้ทันปัจจัยเสี่ยง เรื่อง บุหรี่

        รู้หรือไม่ว่า บุหรี่ 1 มวน ผลิตจากใบยาสูบและมีสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด รวมถึงสารเคมีหลายร้อยชนิดที่ใช้ในการปรุงแต่งกลิ่นและรส ซึ่งมีสารเคมี 43 ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง สารพิษต่างๆเหล่านี้มาจากการเผาไหม้ของบุหรี่และเข้าสู่ร่างกาย บุหรี่ 1 มวน ประกอบด้วยสารพิษร้ายแรง ได้แก่

      1.นิโคติน (Nicotine) เป็นสารเสพติดที่ออกฤทธิ์เป็นทั้งตัวกระตุ้น กด และกล่อมประสาทส่วนกลาง

      2.ทาร์ (Tar) หรือน้ำมันดิบ เป็นสารที่อันตรายก่อให้เกิดมะเร็งและโรคถุงลมโป่งพองในระยะยาว

      3.คาร์บอนมอนนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของใบยา ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์จะซึมเข้าไปในกระแสเลือดทำให้ผู้สูบบุหรี่ได้รับออกซิเจนน้อยลง

      4.ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (hydrogen cyanide) ก่อให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ และหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปวดศีรษะ

       5.ไนโตรเจนไดออกไซด์ (Nitrogen Dioxide) เป็นสารพิษที่ทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลายและถุงลมโป่งพอง

       6.สารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งร้อยละ 50

       7.แอมโมเนีย (ammonia) ใช้ในการปรุงแต่งรสชาติ และช่วยให้นิโคตินดูดซึมเข้าสู่สมองและประสาทส่วนกลางเร็วขึ้น มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ

       นอกจากสารพิษข้างต้นแล้วยังมีสารพิษอีกหลายชนิดในบุหรี่ที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกายของผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่ด้วย เนื่องจากควันบุหรี่ที่ลอยออกมาจากการเผาไหม้ของบุหรี่หรือควันที่ผู้สูบได้พ่นออกมาในอากาศ สามารถทำให้คนรอบข้างหรือผู้ไม่สูบบุหรี่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพด้วย หรือที่เรียกกันว่า “ควันบุหรี่มือสอง” ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของหญิงมีครรภ์และทารก ในเด็กเล็กและผู้ใหญ่

         จากสถิติของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค พบว่าคนไทยที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผู้สูบบุหรี่ทุกชนิดรวม 11.5 ล้านคน อัตราการสูบบุหรี่ของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 20 เท่า มีนักสูบหน้าใหม่เกิดขึ้นราว 1-2 แสนคนต่อปี และคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละประมาณ 50,710 คน เฉลี่ยวันละ 138 คน ชั่วโมงละ 5 คน โดยบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคร้ายต่างๆ มากมาย นอกจากบุหรี่จะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของผู้สูบแล้ว ยังคงมีอีกหลายเหตุผลที่บุหรี่เป็นฉนวนแห่งความเสียหายและความสูญเสียอีกนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ทำงาน

          แต่อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลที่ระบุไว้ว่า คนไม่สูบบุหรี่หลายแสนคนต้องเสียชีวิตในแต่ละปี ด้วยโรคที่เกิดจากการได้รับ “ควันบุหรี่มือสอง” หรือที่เรียกกันว่า “ผู้สูบบุหรี่มือสอง” และไม่เพียงเท่านั้นยังมีควัน “บุหรี่มือสาม” ซึ่งล้วนแล้วก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังมีผลกระทบต่อสุขภาพอีกหลายประการ เช่น

     · เสี่ยงตาบอดถาวร

     · โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

     · โรคหัวใจและหลอดเลือด

     · โรคระบบทางเดินอาหาร

     · หลอดเลือดสมองตีบ

     · โรคถุงลมโป่งพอง

     ·  เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

     ·  ฯลฯ

ถ้าจะเลิกบุหรี่จะมีขั้นตอนอย่างไร

      เราสามารถแบ่งขั้นตอนในการเลิกบุหรี่ออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังที่ใช้ในการเลิกสารเสพติดโดยทั่วไป คือ

     1) เตรียมใจ (contemplating) คือการเริ่มสนใจที่จะเลิกบุหรี่ พยายามหาข้อดีข้อเสียของการสูบบุหรี่ แต่อาจจะยังสองจิตสองใจอยู่ว่าจะเลิกดีหรือไม่

     2) เตรียมตัว (preparation) เป็นขั้นที่มั่นใจว่าจะเลิกแล้ว และพร้อมเตรียมตัวที่จะเลิกบุหรี่

     3) ตัดใจ (action) เป็นการลงมือปฏิบัติตามขั้นตอนการเลิกบุหรี่ที่เตรียมไว้

     4) เอาจริง (maintenance) เป็นการพยายามไม่ให้กลับไปใช้บุหรี่อีก สำหรับขั้นตอนง่ายๆในขั้นเตรียมตัวก่อนที่จะเลิกบุหรี่เรียกว่า S-T-A-R-T
 

อยากจะเอาจริงแล้ว จะ S-T-A-R-T อย่างไร

     ·  Set a quit date ตั้งวันเวลาที่เฉพาะเจาะจงให้อยู่ภายในหนึ่งถึงสองอาทิตย์ที่จะเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด อาจหาวันที่เป็นพิเศษ เช่น วันเกิดคนสำคัญ เช่น คุณแม่ หรือลูก วันแต่งงาน วันปีใหม่ วันชาติ วันงดสูบบุหรี่โลก (31 พฤษภาคม)

     ·  Tell others บอกครอบครัว เพื่อน และผู้ร่วมงานว่ากำลังจะเลิกบุหรี่ อาจขอความช่วยเหลือเพื่อให้เขาปฏิบัติตัวได้ถูกต้องเพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ ยกตัวอย่างเช่น ขอให้เขาเข้าใจว่าอารมณ์อาจฉุนเฉียวหรือเปลี่ยนแปลงง่าย ขอให้คนใกล้ชิดที่สูบบุหรี่มาเลิกบุหรี่พร้อมกันหรืออย่างน้อยไม่มาสูบบุหรี่อยู่ใกล้ๆ หรือขอให้เขาเป็นกำลังใจให้ในการเลิกบุหรี่

     ·  Anticipate challenges คาดเดาว่าจะเกิดความรู้สึกหรืออาการอะไรบ้างขณะเลิกบุหรี่ เช่นอาการขาดนิโคติน ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป อาการขาดนิโคตินได้แก่ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย อารมณ์เสียง่าย หงุดหงิดง่าย สมาธิไม่ดี ความคิดไม่แล่น วิตกกังวลง่าย เศร้า หิวบ่อยหรือน้ำหนักขึ้น เป็นต้น(2) ซึ่งไม่จำเป็นที่จะเกิดทุกอาการ และระยะเวลาที่เกิดขึ้นก็แตกต่างกันในแต่ละคนโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะหมดไปภายใน 1 ถึง 2 อาทิตย์ นอกจากอาการขาดนิโคตินแล้ว ควรต้องดูบันทึกที่จดติดตามตนเองเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ ว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้น มักสูบเวลาไหน ที่ใด เพื่อคาดเดาว่าการสูบบุหรี่ก็อาจเกิดขึ้นได้อีกเมื่ออยู่ในสถานการณ์นั้น พร้อมวางแผนในการจัดการกับความรู้สึกอยากบุหรี่เมื่ออยู่ในสถานการณ์นั้นๆ

     ·  Remove cigarettes กำจัดบุหรี่ ไฟแช็ค ไม้ขีดไฟ ที่ใช้จุดบุหรี่ออกไปให้หมดจากบ้าน ที่ทำงาน รถ เพื่อช่วยในการเลิกบุหรี่ โดยมีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

     - ทำความสะอาดที่ทำงาน รถ และ บ้าน รวมไปถึงเสื้อผ้าให้มีกลิ่นใหม่ อาจซื้อดอกไม้ให้ตนเองเพื่อให้รู้สึกถึงกลิ่นใหม่ๆได้อีกครั้ง

     - พบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูน และคราบบุหรี่เพื่อให้ฟันดูสะอาดและน่ามอง

     - บางคนชอบเก็บบุหรี่ไว้หนึ่งซองเป็นซองสุดท้ายเพื่อ “เผื่อต้องใช้” หรือบางครั้งต้องการพิสูจน์ตนเองว่าทำได้แม้จะมีบุหรี่อยู่ติดตัว อย่างไรก็ตาม การเก็บบุหรี่ติดไว้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งเพราะทำให้เป็นง่ายมากที่จะกลับไปสูบบุหรี่อีกครั้ง

     ·  Talk to the doctor แพทย์ส่วนใหญ่สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ได้ แพทย์อาจให้ สารนิโคตินทดแทนเพื่อลดความรู้สึกอยากนิโคติน ยกตัวอย่างเช่น การใช้แผ่นนิโคติน หมากฝรั่งนิโคติน ลูกอมนิโคติน (สามารถหาได้ตามร้านขายยาทั่วไป) แต่มียาบางชนิดที่ช่วยในการเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งเป็นยาที่ไม่ได้มีนิโคตินเป็นส่วนผสมและสามารถใช้ได้ตามใบสั่งแพทย์ อย่างไรก็ตามควรนึกไว้เสมอว่ายาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมดในการเลิกบุหรี่ ยาเพียงแต่ช่วยลดความรู้สึกอยากบุหรี่เท่านั้น

     เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าบุหรี่ไม่ได้ให้ประโยชน์ใดๆกับผู้สูบ การตัดสินใจเลิกสูบล้วนแต่ให้ผลดี ยิ่งเลิกไวเท่าไร ยิ่งดีกับเรามากเท่านั้น ซึ่งหากเราไม่สูบบุหรี่หรือตัดสินใจเลิกบุหรี่ตั้งแต่ตอนนี้ได้ก็จะเป็นผลดีกับตัวเราเองรวมถึงคนรอบข้างด้วยทั้งเลิกแล้วทำให้สุขภาพดีขึ้น เลิกแล้วคนในครอบครัวมีความสุข เลิกแล้วฐานะการงานดีขึ้น และเลิกแล้วสังคมเจริญก้าวหน้าขึ้นอีกด้วย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้