Last updated: 16 มิ.ย. 2561 | 3673 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ ได้เล็งเห็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งมีในความรับผิดชอบมาโดยตลอด สำหรับเหตุผลที่ต้องมีการปรับปรุง กฎหมายควบคุมยาสูบทั้งสองฉบับ มีสาระสำคัญดังนี้
1.พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ได้มีการบังคับใช้มาเป็นเวลา ยี่สิบปีแล้ว บริษัทบุหรี่ได้มีวิวัฒนาการด้านการตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดทำให้มีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่มีขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมายหลายขั้นตอนทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ไขจุดอ่อนต่าง ๆ
2.ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2548 จึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามรายละเอียดในอนุสัญญาฯ อันรวมถึงการปรับปรุงกฎหมายควบคุมยาสูบให้สอดคล้องกับมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดในอนุสัญญาฯ
3.งานควบคุมยาสูบของประเทศไทยที่ผ่านมายังขาดโครงสร้างองค์กรรัฐที่จะสนับสนุนการควบคุมยาสูบในระดับจังหวัด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการระดับจังหวัดในร่างกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายและมาตรการควบคุมยาสูบมากว่า 25 ปี
4.แม้ว่าจะมีคนไทยเลิกสูบบุหรี่ไปแล้วกว่า 6 ล้านคน แต่จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2554 ยังคงอยู่ที่ 13 ล้านคน เกือบจะไม่ได้ลดลงจากจำนวนคนสูบบุหรี่ 12 ล้านคนเศษ เมื่อ พ.ศ.2534 นั่นหมายความว่ามีเด็กไทยเข้ามาเสพติดบุหรี่กว่า 6 ล้านคนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาทดแทนคนที่เลิกสูบบุหรี่ไปขณะที่อัตราการสูบบุหรี่ของชายไทยยังสูงถึง 46.6%และแนวโน้มอัตราการสูบกลับสูงขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่
ประเด็นหลักที่มีการแก้ไข กฎหมายควบคุมยาสูบ
ยกร่างเป็นกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบโดยนำ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่พ.ศ.2535 มารวมอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน
ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535
ปรับปรุงคำนิยาม
เพิ่มอายุขึ้นต่ำที่จะซื้อบุหรี่และห้ามวิธีการขายที่เด็ก ๆ จะเข้าถึงได้ง่าย
เพิ่มข้อห้ามการโฆษณาทางอ้อม
เพิ่มมาตรการอื่น ๆ ตามที่กำหนดในอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก
ประเด็นที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535
ในการนี้เพื่อให้ภาคประชาชนทุกคนในสังคมไทย ได้มีโอกาสในการสื่อสารเชิงทัศนะ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการยกร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบอันเป็นช่องทางสื่อสารหนึ่ง ที่จะได้รับเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อนำไปพัฒนาขีดความสามารถทางด้านกฎหมายและนำไปสู่การสร้างสังคมไทยไร้ควันบุหรี่ต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่