สุขภาพดีต้อนรับเดือนแห่งความรัก

Last updated: 15 ก.พ. 2562  |  1974 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สุขภาพดีต้อนรับเดือนแห่งความรัก

       หัวใจถือเป็นหนึ่งอวัยวะที่สำคัญต่อทุกระบบในร่างกาย เนื่องจากเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงตามอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายผ่านการทำงานของหัวใจทั้งสี่ห้อง นอกจากนี้การที่เรามีหัวใจที่แข็งแรง เป็นการบ่งบอกถึงความสามารถในการใช้งานของร่างกายได้ดีอีกด้วย ทั้งการออกกำลังกาย การใช้สมองก็จะทำงานได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

       เราทุกคนจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนเพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ทุกเซลล์ภายในร่างกาย ดังนั้น การที่หัวใจมีหน้าที่สำคัญในการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ก็เท่ากับว่า หัวใจกำลังทำหน้าที่ในการส่งออกซิเจนที่อยู่ในเลือด (ซึ่งได้จากการฟอกของปอด) ไปยังเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายนั่นเอง

การทำงานของหัวใจทั้งสี่ห้อง

 หัวใจห้องบนขวา (Right atrium) เป็นส่วนที่คอยรับเลือดจากร่างกายส่วนบนและส่วนล่างผ่านหลอดเลือดดำใหญ่ 2 เส้น คือ หลอดเลือดดำบน (superior vena cava) และหลอดเลือดดำล่าง (Inferior vena cava)

 หัวใจห้องล่างขวา (Right ventricle) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่รับเลือดต่อจากหัวใจห้องบนขวา และส่งเลือดต่อไปยังปอดเพื่อทำการฟอก โดยผ่านลิ้นหัวใจพัลโมนารี (pulmonary valve) และหลอดเลือดแดงพัลโมนารี (pulmonary arteries)
 
 หัวใจห้องบนซ้าย (Left atrium) เมื่อเลือดได้รับการฟอกจากปอดแล้ว จะเป็นเลือดที่มีออกซิเจนอยู่สูง ซึ่งเลือดนี้จะเดินทางเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้าย โดยผ่านหลอดเลือดดำพัลโมนารี หรือหลอดเลือดดำจากปอด (pulmonary veins) จากนั้นจึงส่งต่อไปยังหัวใจห้องล่างซ้าย
 
 หัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) ทันทีที่เลือดมาถึงหัวใจส่วนนี้ เลือดจะถูกสูบฉีดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผ่านลิ้นหัวใจเอออร์ติก (Aortic valve) และหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา (Aorta) ดังนั้น หัวใจส่วนนี้จึงจำเป็นจะต้องมีผนังหัวใจที่หนาและแข็งแรงที่สุด ทั้งยังเป็นห้องหัวใจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดด้วยเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงพอที่จะสูบฉีดเลือดออกไปทั่วร่างกายได้
 
แล้วเราควรดูแลหัวใจเราอย่างไร ตามหลักกินดี อยู่ดี?
 
ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพหัวใจ
   
      การออกกำลังเรารู้ดีอยู่แล้วว่าช่วยให้ร่างกายแข็งแรงปลอดจากโรคภัย แต่การออกกำลังกายของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆอย่างต่อเนื่องกัน เป็นระยะเวลาหนึ่งซึ่งจะมีผลให้ร่างกายใช้ออกซิเจนไปเผาผลาญอาหารในร่างกาย และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและปอดดีขึ้น เช่น เดินเร็วๆ วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน หรือเต้นแอโรบิก เป็นต้น
 
หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง
 
      ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบเลือดและหัวใจทำงานผิดปกติคือเหล่าพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลต่อร่างกาย เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ยาเสพติด หรือแม้กระทั่งความเครียดที่ส่งผลต่อร่างกายในลักษณะลูกโซ่ ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัย ฉะนั้นพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงเป็นการดีที่สุด
 
การรับประทานอาหารและผลไม้
 
      แน่นอนว่าหากมีการรับประทานอาหารและผลไม้ที่ดีมีประโยชน์เป็นประจำจะช่วยส่งผลให้การทำงานของระบบหลอดเลือดและหัวใจแข็งแรงขึ้น และเราสามารถเลือกรับประทานอาหาร ผลไม้ที่หาได้ไม่ยาก เช่น ข้าวโอ๊ต ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายและดีต่อระบบหัวใจ, ถั่ว ซึ่งเป็นเมล็ดธัญพืช มีคุณสมบัติในการลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ จึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ, หน่อไม้ฝรั่ง ที่มีความสามารถในการขจัดลิ่มเลือด ซึ่งถือได้ว่าเป็นสาเหตุหลักของอาการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกายได้อย่างดี หรือแม้แต่ชาเขียวร้อน ช่วยลดคลอเรสเตอรอลในเลือด กระตุ้นการทำงานของระบบดูดซึมสารอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้ อาหารที่มีไขมันและคลอเรสเตอรอลสูงควรหลีกเลี่ยงการบริโภค และควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่างหลากหลาย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง
 
การตรวจสุขภาพ
 
      นอกจากการออกกำลังกาย การเลี่ยงหลีกพฤติกรรมเสี่ยงและการรับประทานอาหารและผลไม้ที่ดีต่อระบบหัวใจแล้ว การหมั่นตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เพื่อประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ ซึ่งตรวจและพบว่ามีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคก็จะสามารถดูแลร่างกายให้กลับมาแข็งแรงขึ้นโดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพียงเท่านี้ร่างกายของเราก็มีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลจากโรคภัยต่างๆ
 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : www.honestdocs.co
 
 
      

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้