พี่เลี้ยงด้านสุขภาพ 8 จังหวัด เข้าร่วมฝึกอบรม “Health Mentor: ผู้ขับเคลื่อนแรงงานสุขภาพดีปลอดบุหรี่-เหล้า” ณ ศูนย์ฝึกอบรมเขื่อนท่าทุ่งนาและศูนย์รวมตะวัน จังหวัดกาญจนบุรี

Last updated: 22 ก.พ. 2563  |  1053 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พี่เลี้ยงด้านสุขภาพ 8 จังหวัด เข้าร่วมฝึกอบรม “Health Mentor: ผู้ขับเคลื่อนแรงงานสุขภาพดีปลอดบุหรี่-เหล้า” ณ ศูนย์ฝึกอบรมเขื่อนท่าทุ่งนาและศูนย์รวมตะวัน จังหวัดกาญจนบุรี

     โครงการส่งเสริมการขยายฐานการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ (สนับสนุนโดย สสส.) ดำเนินการโดยสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ส.พ.ส.) จัดฝึกอบรม “Health Mentor: ผู้ขับเคลื่อนแรงงานสุขภาพดีปลอดบุหรี่-เหล้า” เมื่อวันที่ 13 - 15 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์ฝึกอบรมเขื่อนท่าทุ่งนาและศูนย์รวมตะวัน จังหวัดกาญจนบุรี การฝึกอบรมครั้งนี้ถือเป็นส่วนปฐมบทของการพัฒนาศักยภาพให้กับพี่เลี้ยงด้านสุขภาพ (Health Mentor) ในการขับเคลื่อนแรงงานสุขภาพดีปลอดบุหรี่-เหล้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับแรงบันดาลใจและวิเคราะห์ร่วมกันถึงคุณสมบัติสำคัญของการเป็นพี่เลี้ยงด้านสุขภาพที่ดี และเพื่อจุดประกายและสร้างแรงจูงใจให้เห็นคุณค่างานของตนเองในฐานะพี่เลี้ยงด้านสุขภาพต่อการสร้างเสริมสุขภาพวัยทำงานในสถานประกอบการ ตลอดจนได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ต่อแนวทางในการขับเคลื่อนแรงงานสุขภาพดีปลอดบุหรี่-เหล้าอย่างเป็นระบบที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จของการขับเคลื่อนต่อไป ทั้งนี้มีพี่เลี้ยงด้านสุขภาพเข้าร่วมฝึกอบรม 57 คน จาก 8 จังหวัดเครือข่าย (นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น นครปฐม กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สระบุรี และชลบุรี) ประกอบด้วยพี่เลี้ยงจากหน่วยงานด้านสุขภาพ ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุข และบ้านพิชิตใจ

     การอบรมในครั้งนี้เน้นผู้เข้าร่วมอบรมเป็นศูนย์กลาง โดยใช้กิจกรรม (Activity) นำเป็นแบบ Learning by Doing ทุกคนในกลุ่มเป็นผู้ปฏิบัติ เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งแต่ละกิจกรรมมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน สร้างความเข้าใจให้เกิดกระบวนการคิด ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันจากประสบการณ์ที่ผ่านมา (Experiential Learning) และทุกครั้งที่จบกิจกรรมมีการสรุปทบทวน Review ประเมินผลร่วมกัน สำหรับกิจกรรมหลักใน 3 วัน 2 คืน ที่พี่เลี้ยงด้านสุขภาพเข้าร่วมมีดังนี้ กิจกรรม Check in, กิจกรรม “รู้จักฉัน รู้จักเธอ”, กิจกรรม Reflection, คุณค่าของการเป็น Health Mentor (โดย ดร.ธนวันต์ สินธุนาวา นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม), Work shop การควบคุมการบริโภคยาสูบและแอลกอฮอล์ในสถานประกอบการมีความสำคัญต่อการสร้างเสริมสุขภาพของคนในจังหวัดอย่างไร (โดย ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการฯ และทีมงาน), บรรยายสถานการณ์ยาสูบและยุทธศาสตร์ชาติในการควบคุมยาสูบ: โครงการจังหวัดควบคุมยาสูบและแอลกอฮอล์ (โดยนางวิไลลักษณ์ หฤหรรษพงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข), สถานประกอบการขับเคลื่อนแรงงานสุขภาพดีปลอดบุหรี่-เหล้าอย่างไร, กิจกรรม “ตลาดนัดเครื่องมือการขับเคลื่อนแรงงานสุขภาพดีปลอดบุหรี่-เหล้า”, กิจกรรมภารกิจพิชิตความมืด (พิชิตปัจจัยเสี่ยง), กิจกรรมเบิกบานยามเช้าตามอัธยาศัย และ Art of (Health) Mentoring (โดยนายดำริ เอกเจริญ ผู้เชี่ยวชาญการโค้ชเพื่อการเปลี่ยนแปลง)

     ส่วนกิจกรรมเด่นที่พี่เลี้ยงหลายคนพึงพอใจและได้สะท้อนกลับมายังโครงการฯ คือกิจกรรม “ตลาดนัดเครื่องมือการขับเคลื่อนแรงงานสุขภาพดีปลอดบุหรี่-เหล้า” ซึ่งเป็นตลาดนัดที่ให้พี่เลี้ยงเลือกช้อปปิ้งความรู้จากร้านต่างๆ ได้ตามอัธยาศัย โดยมุ่งเน้นให้พี่เลี้ยงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสถานประกอบการต่างๆ ได้ ในตลาดประกอบด้วยร้านหลักๆ ดังนี้ (ภายในร้านหลักประกอบด้วยแผงย่อยๆ หลายแผง)

     1. ร้านการสื่อสารและรณรงค์ ประกอบด้วยแผงเสียงตามสาย (สาธิตวิธีการประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านปัจจัยเสี่ยง และให้พี่เลี้ยงได้ทดลองเป็นดีเจ) แผงความรู้และกิจกรรมด้านปัจจัยเสี่ยงบุหรี่-เหล้า (ตัวอย่างเกมหลากหลายรูปแบบที่เหมาะกับพนักงานในสถานประกอบการ) แผงสื่อกิจกรรมการทดสอบ (ตัวอย่างการทดสอบปอดหมู และการใช้เครื่องมือวัดความจุปอด)

     2. ร้านการจัดสภาพแวดล้อม ประกอบด้วยแผงเขตสูบบุหรี่และแผงเขตปลอดบุหรี่ มีตัวอย่างการจัดเขตสูบบุหรี่และเขตปลอดบุหรี่ที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเกมและของรางวัล

     3. ร้านการช่วยเลิกบุหรี่-เหล้า ประกอบด้วยแผง Quitline 1600 (แสดงตัวอย่างสื่อรณรงค์และสาธิตวิธีการให้คำปรึกษาสายด่วนการลด ละ เลิกบุหรี่) แผงผลิตภัณฑ์ลด ละ เลิก (แสดงวิธีการและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการสูบบุหรี่) และแผงนวดกดจุด (สาธิตวิธีการนวดกดจุด เพื่อลดการสูบบุหรี่)

     4. ร้านตัวอย่างอาหารและกิจกรรมทางกาย ประกอบด้วยแผงโรงอาหารเพื่อสุขภาพ (จัดสภาพแวดล้อมภายในโรงอาหาร เพื่อให้ความรู้และจูงใจให้พนักงานหันมาเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ตัวอย่างน้ำผักและผลไม้ปั่นตามฤดูกาล ตัวอย่างสื่อด้านอาหาร เป็นต้น และแผงการออกกำลังกาย (แสดงตัวอย่างกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้พนักงานออกกำลังกาย เช่น ยางยืด...ยืดชีวิต ตัวอย่างอุปกรณ์ออกกำลังกายอย่างง่ายในออฟฟิศ ตัวอย่างแบบประเมิน BMI และเกมเต้น)

     และกิจกรรมภารกิจพิชิตความมืด (พิชิตปัจจัยเสี่ยง) เป็นอีกกิจกรรมที่พี่เลี้ยงหลายคนพึงพอใจและได้สะท้อนกลับมายังโครงการฯ เป็นกิจกรรมที่พี่เลี้ยงทุกคนได้ลองปฏิบัติจริง ทั้งสนุกสนานและท้าทาย แล้วก็พบว่าการดำเนินงานด้านปัจจัยเสี่ยงไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากเกินความมุ่งมั่นตั้งใจจริง

     ภาพรวมของการฝึกอบรมครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี ทั้งในแง่ของการติดอาวุธหรือมอบเครื่องมือให้กับพี่เลี้ยงด้านสุขภาพในการดำเนินงานร่วมกับสถานประกอบการ และการดำเนินงานระดับจังหวัดอย่างเช่นข้อมูลที่ได้จากกิจกรรม Reflection ของกลุ่มพี่เลี้ยงแต่ละจังหวัด ได้แก่ ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร เมื่อไรและเท่าไหร่ ปัญหาและอุปสรรค และความท้าทาย ซึ่งแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละจังหวัด โดยข้อมูลที่สะท้อนกลับออกมานั้นทางโครงการฯ จะนำมาประมวลผลและหาทางสนับสนุนให้พี่เลี้ยงแต่ละจังหวัดต่อไป

==============================================

ดูภาพเพิ่มเติมที่เฟซบุ๊กโครงการฯ ชื่ออัลบั้ม "พี่เลี้ยงด้านสุขภาพ 8 จังหวัด เข้าร่วมฝึกอบรม Health Mentor" https://bit.ly/38PBh9X

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้