ทีมพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพจังหวัดนครปฐมเยี่ยมชมโครงการ “ชาวเกาะไร้ควัน ไร้บุหรี่ สุขภาพดีมีสุข” ที่บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด

Last updated: 18 มี.ค. 2563  |  1397 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทีมพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพจังหวัดนครปฐมเยี่ยมชมโครงการ “ชาวเกาะไร้ควัน ไร้บุหรี่ สุขภาพดีมีสุข” ที่บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด

     ทีมพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพ (Health Mentors) จังหวัดนครปฐม ประกอบด้วย นายประมวล โฆษิตชัยมงคล (สาธารณสุขอำเภอสามพราน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสามพราน) นายธงชัย พิมพ์ดี (นักวิชาการสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม) นายสมพร สุวรรณ์เพ็ชร (นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลสามพราน) และนายพิทยพุฒ แก่นโต (ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกระทุ่มล้ม) ร่วมด้วยทีมงานโครงการส่งเสริมการขยายฐานการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการที่สนับสนุนโดย สสส. (นางสาวจันธิกานต์ ปิยสถิตธรรม และนางสาวพิมพ์นภา สินค้าเจริญ) เยี่ยมชมโครงการ “ชาวเกาะไร้ควัน ไร้บุหรี่ สุขภาพดีมีสุข” ที่บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 โครงการชาวเกาะไร้ควันฯ นี้ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมฯ และทุนสมทบจากบริษัทเทพผดุงพรฯ ด้วย โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 ถึงพฤศจิกายน 2563 เพื่อดำเนินงานพัฒนาให้เป็นสถานประกอบการสุขภาพดีมีสุข (H2E; Health & Happy Enterprise) ในการเยี่ยมชมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการชาวเกาะไร้ควันฯ ตลอดจนให้คำแนะนำ คำปรึกษา วิธีการและการสนับสนุนด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน

     นางสาวสุณิสา รองรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล พร้อมด้วยคณะทำงานโครงการชาวเกาะไร้ควันฯ อีก 13 คน ต้อนรับทีมพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพและทีมงานโครงการส่งเสริมฯ เป็นอย่างดี จากนั้นนำเสนอสถานการณ์การดำเนินงานโครงการชาวเกาะไร้ควันฯ 4 เดือนที่ผ่านมาว่า ประกอบด้วย 5 โครงการย่อย มีการการสำรวจพนักงานทั้งสิ้น 1,650 คน เป็นผู้หญิง 877 คน และผู้ชาย 773 คน มีพนักงานที่สูบบุหรี่ 250 คน นอกจากนี้มีพนักงานมาขอให้ช่วยเลิกเหล้าด้วย ซึ่งทางบริษัทได้เริ่มดำเนินงานตามแผนและจัดกิจกรรมที่สำคัญๆ ไปแล้ว ดังนี้

     • ด้านการสื่อสารให้ความรู้ 1. มีการจัดบอร์ดประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ 2. ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายทุกวัน ช่วงเวลาประมาณ 10.00-11.00 น. 3. จัดทำแบบสำรวจสถานการณ์ และจำนวนพนักงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการชาวเกาะไร้ควันฯ ทั้ง 5 โครงการย่อย สรุปได้ดังนี้ พนักงานสมัครเข้าร่วม ‘ชาวเกาะไร้ควัน ไร้บุหรี่’ 180 คน (10.91%) พนักงานสมัครเข้าร่วม ‘ลดไซส์ เอวสวยหุ่นดี’ 100 คน (6.06%) พนักงานสมัครเข้าร่วม ‘ชาวเกาะกินดี มีแรง’ 1,650 คน (100%) พนักงานสมัครเข้าร่วม ‘ธรรมมะ สร้างสมาธิ สร้างชีวิตสงบ’ 560 คน (33.93%) พนักงานสมัครเข้าร่วม ‘ออมเงิน ออมทรัพย์ อยู่ดี มีสุข’ 1,250 คน (75.75%)

     • ด้านการสนับสนุน 1. โครงการย่อย ‘ชาวเกาะกินดี มีแรง’ ปรับปรุงเมนูอาหารเพื่อสุขภาพที่โรงอาหาร 2. โครงการย่อย ‘ออมเงิน ออมทรัพย์ อยู่ดี มีสุข’ เปิดตัวโครงการนี้โดยการแจกกระปุกออมสิน พนักงานที่สมัครเข้าร่วมจะต้องหยอดจำนวนเงินตามวันที่ คือ วันที่ 1 หยอด 1 บาท วันที่ 2 หยอด 2 บาท ทำเช่นนี้ไปจนถึงวันที่ 31 หยอด 31 บาท เมื่อถึงต้นเดือนใหม่ ให้นำเงินที่สะสมของเดือนที่แล้วฝากเข้าบัญชี

     • ด้านการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีมีสุข 1. โครงการย่อย ‘ชาวเกาะไร้ควัน ไร้บุหรี่ ’ มีการจัดเขตสูบบุหรี่และเขตปลอดบุหรี่ และออกกฎระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัย ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามสูบ 2. โครงการย่อย ‘ชาวเกาะกินดี มีแรง’ มีการจัดการโรงอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ

     คณะทำงานโครงการชาวเกาะไร้ควันฯ (นายสิทธิพงษ์ มีศิริ (หัวหน้างานแผนกซีมเมอร์) นายสุดใจ คำหมาย (หัวหน้างานแผนกวิศวกรรม) นางวันทอง ทองขาว (รองหัวหน้างานแผนกวางแผน-ส่งออก) นายศราวุธ ขำวิลัย (เจ้าหน้าที่ฝ่ายระบบบริหารคุณภาพ) และนายภานุวัฒน์ จำเริญ (เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล)) พาทีมพี่เลี้ยงสุขภาพและทีมงานโครงการส่งเสริมฯ เยี่ยมชมพื้นที่ส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างนี้มีการให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สุดท้ายกลับมาสรุปร่วมกันที่ห้องประชุมได้ความดังนี้ 1. ควรย้ายเขตสูบบุหรี่ให้ห่างจากประตูทางเข้าหน้าโรงงานและพื้นที่สาธารณะ ติดโปสเตอร์ความรู้เกี่ยวกับโทษและพิษภัยจากบุหรี่ สื่อบุคคลต้นแบบที่เลิกบุหรี่แล้ว หรือสื่ออื่นๆ ที่สามารถโน้มน้าวใจให้เลิกสูบบุหรี่ไว้ในบริเวณเขตสูบบุหรี่ 2. ติดป้ายและสติ๊กเกอร์ห้ามสูบบุหรี่เพิ่ม ติดให้เห็นชัดเจน และใช้ข้อมูลปัจจุบัน 3. บูรณาการงานบางอย่างในโครงการย่อยร่วมกัน เพื่อไม่ให้เสียเวลาและไม่เสียงานการผลิต 4. สนับสนุนให้บุคคลต้นแบบที่เลิกบุหรี่แล้วได้รับการเชิดชู ยกระดับเป็นแกนนำสุขภาพให้กับบริษัท 5. ให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงของการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่กับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) แก่พนักงาน 6. การใช้กฎหมายเข้ามาช่วย การประชาสัมพันธ์ข้อกำหนดและบทลงโทษแก่พนักงาน และ 7. เพิ่มเรื่องเหล้าเข้าไปในโครงการย่อยแรก เนื่องจากมีพนักงานที่ติดเหล้าขอให้ทางบริษัทช่วยเลิกเหล้าด้วย ซึ่งพี่เลี้ยงด้านสุขภาพก็เห็นด้วยและพร้อมที่จะช่วยเลิกเหล้า

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้