ทีมงานโครงการส่งเสริมฯ เยี่ยมชมโครงการ “TNS Better Health Better Wellness (โครงการสุขภาพดี ทีเอ็นเอส มีสุข)” ที่บริษัทไทยนิปปอนฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา

Last updated: 19 มี.ค. 2563  |  1716 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทีมงานโครงการส่งเสริมฯ เยี่ยมชมโครงการ “TNS Better Health Better Wellness (โครงการสุขภาพดี ทีเอ็นเอส มีสุข)” ที่บริษัทไทยนิปปอนฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา

     บริษัทไทยนิปปอน สตีล เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยนายสมชัย สามพี่น้อง (เจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส) นายมงคลพจน์ เกศนิธิวรกุล (ผู้จัดการโรงงาน) นางสาวจิตศุภางค์ สาริกบุตร (ผู้จัดการอาวุโส) นายนิคม สองคร (ประธานสหภาพ) นางพัศศ์ธีรา กิจจานุลักษณ์ (ผู้จัดการแผนกกิจกรรมสัมพันธ์และองค์กรสัมพันธ์) นายนัฐพล วงศ์สุภา (หัวหน้าโครงการ“TNS Better Health Better Wellness (โครงการสุขภาพดี ทีเอ็นเอส มีสุข)”) และคณะทำงานโครงการ TNS อีก 6 คน ต้อนรับพี่เลี้ยงส่งเสริมสุภาพ (ดร.มุกดา ไชยมโน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลบางปะกง) และทีมงานโครงการส่งเสริมการขยายฐานการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการที่สนับสนุนโดย สสส. (นางสาวกิตติญารัตน์ สามงามเอี่ยม และนางสาวศิริพร บุญฤทธิ์) ในการเยี่ยมชมโครงการ TNS เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ซึ่งบริษัทไทยนิปปอนฯ เป็นสถานประกอบการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการส่งเสริมฯ และทุนสมทบจากบริษัทไทยนิปปอนฯ ด้วย โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 ถึง 30 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินงานพัฒนาสถานประกอบการสุขภาพดีมีสุข (H2E; Health & Happy Enterprise) ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ เพื่อพูดคุยและสอบถามถึงผลการดำเนินงานโครงการ TNB  พร้อมกับรับทราบปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่ผ่านมา อีกทั้งให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการสนับสนุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานร่วมกัน

     โครงการ TNS เป็นการดูแลสุขภาพพนักงานของบริษัทแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งหวังที่จะสร้างกิจกรรมต่างๆ อย่างมีทิศทางและบูรณาการ เพราะสุขภาพของพนักงานเป็นสิ่งที่บริษัทห่วงใยเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งสัมพันธ์กับการส่งเสริมและยกระดับผลิตภาพแรงงานในที่สุด ภายใต้สโลแกน ‘คุณคนใหม่ที่ดีกว่า’ ส่วนการดำเนินงานของโครงการ TNS ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ได้แก่ นำข้อมูลการตรวจสุขภาพประจำปีมาใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบกิจกรรมในโครงการย่อย จัดทำนโยบายส่งเสริมสุขภาพและสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมในบริษัท ปรับปรุงพื้นที่สูบบุหรี่ตามที่กฎหมายกำหนด และลดพื้นที่สูบบุหรี่จาก 17 จุด เหลือเพียง 4 จุด ยกเลิกเวลาพักสำหรับการสูบบุหรี่ในช่วงเวลา 10.00 - 10.15 น. และ 15.00 - 15.15 น. หากมีความจำเป็นต้องออกมาในช่วงเวลาดังกล่าวต้องขออนุญาตหรือแจ้งให้หัวหน้างานทราบก่อนทุกครั้ง ปฐมนิเทศเพื่อให้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งพนักงานเก่าและใหม่ สรรหาบุคคลที่เลิกบุหรี่แล้วมาเป็นบุคคลต้นแบบ สนับสนุนการออกกำลังกายให้กับพนักงานตามความสนใจผ่านชมรมกีฬา เช่น เปตอง แบดมินตัน ฟุตบอล ปิงปอง ปั่นจักรยาน เป็นต้น และกระตุ้นพนักงานด้วยการส่งเสริมให้ออกกำลังกายก่อนเข้างาน สนับสนุนอาหารเพื่อสุขภาพให้กับพนักงานในมื้อกลางวันเพื่อเพิ่มการเข้าถึงการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น

     สิ่งที่พี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพและทีมงานโครงการส่งเสริมฯ มีข้อคิดเห็นเพื่อการต่อยอดการดำเนินงานตามแผนของโครงการ TNS มีดังนี้

      1. การจัดเขตสูบบุหรี่ บางจุดยังไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเน้นให้ไม่รบกวนผู้อื่นและอยู่ในจุดที่ไม่เปิดเผยมากนัก ติดข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโทษและพิษภัยจากการสูบบุหรี่แบบหมุนเวียน ติดประกาศ คำสั่งหรือข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุมการสูบบุหรี่ของบริษัท ให้ติดการแนะนำการลด ละ เลิกบุหรี่และช่องทางการสมัครเข้าร่วมโครงการ TNS

      2. การสำรวจข้อมูลพฤติกรรมการสูบบุหรี่เชิงลึก ที่สามารถจำแนกได้ว่าพนักงานที่สูบบุหรี่อยู่ในระดับไหน และแบ่งกลุ่มเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่ รวมถึงวิธีการสนับสนุนให้เลิกบุหรี่ โดยมีหน่วยงานด้านสุขภาพคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ความรู้ ให้คำแนะนำและติดตามเป็นระยะ

      3. การสนับสนุนให้บริษัทจัดทำระบบพี่เลี้ยง (แกนนำสุขภาพของบริษัท) ในการดูแลพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ TNS พร้อมสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้กับพี่เลี้ยงในการดูแลสุขภาพพนักงาน โดยนำหัวหน้างานและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมอบรมให้ความรู้จากพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่

      4. การนำผลการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ มาเทียบกับการปฏิบัติงานรายบุคคล เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่บริษัทจะได้รับประโยชน์ หรือข้อมูลที่สะท้อนการลดต้นทุนของบริษัท เช่น การเบิกค่ารักษาพยาบาล การเบิกค่าเดินทางไปโรงพยาบาลที่อยู่ในประกันสังคม อัตราการใช้ห้องพยาบาล เป็นต้น

      5. การพัฒนาห้องพยาบาลให้เป็นจุดรับคำปรึกษาในการลด ละ เลิกบุหรี่และเหล้าอย่างใกล้ชิด ทั้งรายกลุ่มและรายบุคคล จัดทำระบบการส่งต่อข้อมูลในการดูแลและรายงานผลการดูแลให้กับพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพต่อไป

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้