ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง

Last updated: 1 มิ.ย. 2563  |  1545 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง

     สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของไทย เวลานี้เรียกได้ว่าดีวันดีคืน จำนวนยอดผู้ติดเชื้อบางวันลดลงเหลือศูนย์ ภาครัฐอนุญาตให้ผ่อนคลายในกิจกรรมบางประเภท ผู้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตกันตามปกติ อย่างไรก็ตาม ทุกคนยังต้องช่วยกันรักษาวินัย “ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก” เพื่อป้องกันการระบาดรอบสอง

     ท่ามกลางการระบาดของ โควิด–19 การสูบบุหรี่ คือหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการติดโควิด-19 ทำให้อาการป่วยทรุดหนัก และมีโอกาสเสียชีวิตสูง จึงเป็นอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

     เนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2563 นี้ เป็นโอกาสดีที่จะรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน ถึงอันตรายของบุหรี่ โดยใช้โควิด-19 เป็นกรณีศึกษา เพื่อสร้างกระแสการเลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งลดความเสี่ยงที่จะแพร่โควิด-19 ให้แก่คนอื่น และหากไม่สามารถเลิกสูบได้ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ให้เสี่ยงน้อยลงทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง

     “ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ” เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ว่า หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ไวรัสชนิดนี้รุนแรงมากขึ้นคือการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีรายงานจากวารสารการแพทย์จีนระบุว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการทรุดหนักรวมถึงเสียชีวิตเป็นผู้สูบบุหรี่มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 14 เท่า การสูบบุหรี่จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรง รวมถึงการเสียชีวิตจากโควิด-19

     ดังนั้นการลดปัจจัยเสี่ยงโดยการไม่สูบบุหรี่ จะเป็นการเพิ่มภูมิต้านทานของร่างกายในการป้องกันการติดโควิด-19 ได้ ซึ่งที่ไทยมีการพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนจากการเที่ยวผับ บาร์ จากพฤติกรรมการสูบบุหรี่มวนเดียวกันและดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน สร้างความตื่นตัวให้กับสังคมไทยอย่างมาก มีความพยายามรณรงค์ให้ผู้ที่สูบบุหรี่พยายามเลิกบุหรี่ให้ได้

     นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเพิ่มความเสี่ยงติดโควิด-19 จากการที่มือที่คีบบุหรี่นำเชื้อโรคโควิดเข้าสู่ร่างกายทางปาก และมีความเสี่ยงที่ผู้สูบบุหรี่หากติดโควิด-19 จะแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ง่าย หากมีอาการไอหรือจามขณะสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในที่สาธารณะ

    เพราะเหตุใดหลายองค์กรจึงเตือนให้เลิกสูบบุหรี่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 และผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงติดโควิด-19 สูงกว่าคนทั่วไปจริงหรือไม่ วันนี้เรามีข้อมูลที่น่าสนใจนำมาฝากกัน

“10 ประเด็น สูบบุหรี่กับการติดเชื้อโควิด-19”

1. การสูบบุหรี่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายและปอดอ่อนแอกว่าปกติ ทำให้โควิด-19 จู่โจมเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ง่าย

2. ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว (โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ) และมีประวัติสูบบุหรี่ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโควิด-19

3. จีนพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่สูบบุหรี่ปอดอักเสบรุนแรง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและเสียชีวิตมากกว่า 14 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่สูบบุหรี่

4. สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่เข้าอยู่โรงพยาบาล โดย 1 ใน 3 อายุน้อยกว่า 45 ปี เป็นกลุ่มอายุที่ป่วยสูงกว่าประเทศอื่นๆ เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่

5. การได้รับควันบุหรี่มือสองในคนที่ไม่สูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น วัณโรคและเชื้อไวรัส ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการได้รับควันบุหรี่มือสอง เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ติดโควิด-19 มีอาการป่วยรุนแรงได้ ช่วงที่ล็อคดาวน์จึงไม่ควรสูบบุหรี่ในบ้าน หากยังเลิกสูบไม่ได้

6. เลิกสูบบุหรี่ ทำให้ภูมิต้านทานปอดดีขึ้น ทำให้ต่อสู้กับเชื้อร้ายดีขึ้น หากป่วยอาการก็ไม่หนัก และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว

7. ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) แนะให้เลิกสูบบุหรี่ ลดเสี่ยงติดโควิด-19 รุนแรง

8. WHO และสาธารณสุขอังกฤษ แนะให้เลิกสูบจะช่วยลดความเสี่ยงติดโควิด-19 รุนแรง

9. โควิด-19 อาจแพร่ระบาดในไทยอีกนาน 12-18 เดือน ผู้สูบบุหรี่จึงควรถือโอกาสนี้เลิกสูบ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงหากติดโควิด-19

10. ผู้ที่ติดโควิด-19 หากสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ จะเพิ่มความเสี่ยงแพร่เชื้อให้กับคนอื่น ถ้าหากมีอาการไอหรือจามในที่ที่คนอื่นอยู่ด้วย จึงยิ่งไม่ควรสูบบุหรี่ในที่สาธารณะในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด

     ติดบุหรี่ ติดโควิด เสี่ยงตายสูง #เลิกสูบลดเสี่ยง คือคำขวัญเพื่อใช้รณรงค์ในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2563 เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่ประเทศไทยและทั่วโลก ต่างต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของโควิด-19 และเพื่อชี้ให้เห็นว่าการสูบบุหรี่ส่งผลทำให้อาการรุนแรงขึ้นเมื่อติดโควิด-19

     บุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพของทั้งตัวเองและคนรอบข้าง สสส. ขอเชิญชวนคนไทยใช้วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ เป็นโอกาสเริ่มต้นในการลดละเลิกบุหรี่ สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่สามารถโทรขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600

------------------------

เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลประกอบจาก มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้