พี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพจาก รพ.ดำเนินสะดวก ติดตามการลด ละ เลิกบุหรี่ที่บริษัทโรงพิมพ์นิยมกิจ (1994) จำกัด

Last updated: 14 ก.ค. 2563  |  1002 จำนวนผู้เข้าชม  | 

พี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพจาก รพ.ดำเนินสะดวก ติดตามการลด ละ เลิกบุหรี่ที่บริษัทโรงพิมพ์นิยมกิจ (1994) จำกัด

     ทีมพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพ (Health Mentors) จากโรงพยาบาลดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี นำโดยนายนพพร ทัพอยู่ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ติดตามการลด ละ เลิกบุหรี่ให้กับพนักงานที่สมัครใจเลิกบุหรี่ของบริษัทโรงพิมพ์นิยมกิจ (1994) จำกัด จังหวัดราชบุรี การติดตามดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเลิกบุหรี่ตามแผนการดำเนินงานที่วางร่วมกันระหว่างพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพกับบริษัท ภายใต้โครงการส่งเสริมการขยายฐานการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2563

        ผู้บริหารของบริษัทโรงพิมพ์นิยมกิจ (1994) จำกัด ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพของพนักงานเป็นอย่างมาก จึงให้การสนับสนุนทั้งการส่งเสริมพฤติกรรมดีและลดพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่ โครงการลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ให้กับพนักงาน การจัดการด้านสภาพแวดล้อมภายในโรงงานให้เป็นเขตปลอดบุหรี่ ให้ความรู้ กระตุ้นและรับสมัครพนักงานที่สนใจเลิกบุหรี่ ซึ่งมีพนักงานสมัครเข้าร่วม 10 คน ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพี่เลี้ยงส่งเสริมสุขภาพในช่วยเลิกบุหรี่ให้กับพนักงานในบริษัท โดยครั้งที่ 1 เป็นการประเมินพฤติกรรมการสูบบุหรี่และประเมินระดับการติดนิโคติน ให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง แนะนำตัวช่วยเลิกบุหรี่แบบต่างๆ เช่น การใช้สมุนไพร (เช่น หญ้าดอกขาว โปร่งฟ้า) ผลไม้รสเปรี้ยว (เช่น มะนาว มะขามป้อม) การนวดกดจุดสะท้อนเท้า เป็นต้น และตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาได้มีการติดตามทางโทรศัพท์อยู่เป็นประจำ

          การเข้าบริษัท ครั้งที่ 2 นี้ เพื่อติดตามผลการช่วยเลิกบุหรี่ หลังจากครั้งแรกผ่านไป 1 เดือน มีการตรวจวัดค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ในปอดด้วยเครื่อง Smokerlyzer เพื่อเปรียบเทียบผลก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการของบริษัท ผลที่ได้คือพนักงานมีค่าคาร์บอนมอนอกไซด์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้มีการตรวจวัดความแข็งแรงและยืดหยุ่นของเส้นเลือดแดงส่วนปลายนิ้วด้วยเครื่องตรวจ Smart Pulse ที่สำคัญยังเสริมพลังด้วยการให้กำลังใจแก่พนักงานที่สมัครใจเลิกบุหรี่ มีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ได้ 1 คน จากการติดตามยังพบว่าพนักงานทุกคนที่เข้าร่วมโครงการของบริษัท มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไปในทางที่ดีขึ้น (ลดปริมาณการสูบบุหรี่)

          นายนพพร กล่าวว่า “จากการพูดคุยกับพนักงาน พบปัญหาและอุปสรรค คือ พนักงานมีภาระงานที่มากจึงเกิดความเครียดสะสม ทำให้ยังต้องสูบบุหรี่บางเวลา โดยเฉพาะเวลาที่เกิดความเครียด ในเบื้องต้น ผมได้ให้คำแนะนำกับพนักงานเรื่องการกำหนดลมหายใจ และให้คำแนะนำกับทางบริษัทว่า ควรมีการจัดกิจกรรมที่สร้างความผ่อนคลายความเครียดแก่พนักงานตามโอกาสและความเหมาะสม เช่น การออกกำลังกายร่วมกัน มีกิจกรรมนันทนาการให้ทำร่วมกัน” ล้วนก็ส่งผลดีต่อการพัฒนาเป็นสถานประกอบการสุขภาพดีมีสุขต่อไป

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้