วัยจิ๋วปลอดภัย ใส่ใจสวมหมวกกันน็อก

Last updated: 17 ก.ย. 2563  |  3658 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วัยจิ๋วปลอดภัย ใส่ใจสวมหมวกกันน็อก

     ภาพของผู้ปกครองที่ต้องรับ-ส่งลูกหลานไปโรงเรียน โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ หรือแม้แต่การใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์เพื่อไปโรงเรียนของเด็กๆ ในเขตกรุงเทพฯ เป็นภาพที่เราคุ้นเคยและเห็นกันจนชินตา แต่ภาพที่เราไม่ค่อยคุ้นชินกันนักคือ การสวมหมวกกันน็อกให้กับเด็ก ย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น เด็กนักเรียนเตรียมอนุบาลประสบอุบัติเหตุทางถนนเป็นเหตุให้เสียชีวิตเนื่องจากไม่ได้สวมหมวกกันน็อก

     การสูญเสียในครั้งนั้นได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ในด้านความปลอดภัยทางถนน เด็กเล็กในวัยเตรียมอนุบาลเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมแก่การปลูกฝังความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนให้กับเขามากที่สุด เพราะเป็นช่วงวัยที่กำลังเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดี

     ข้อมูลการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐาน ซึ่งได้แก่ ตำรวจ บจก.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และมรณบัตร ในปี 2556-2560 พบว่า เด็กอายุ 0-9 ปี เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 675 คน ในขณะที่ผลสำรวจของมูลนิธิไทยโรดส์ในปี 2553-2562 พบว่าเด็กไทยนั่งรถจักรยานยนต์สวมหมวกกันน็อกเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก

     ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเตรียมอนุบาลจากการไม่สวมหมวกกันน็อก ทำให้ สสส. ได้เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง จึงร่วมมือกับภาคีเครือข่าย พัฒนาการจัดการเรียนการสอนและส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษา รวมทั้งการผลักดันให้ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคม

      นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า “งานอุบัติเหตุทางถนนเป็นส่วนหนึ่งที่ สสส. ทำมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ในแต่ละปีจะมีเด็กเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ปีละกว่า 20,000 คน การสนับสนุนให้เด็กมีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่เล็กๆ ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามาก เพราะเราเชื่อว่าเด็กเป็นช่วงวัยที่เหมาะสมกับการเรียนรู้และปลูกฝัง”

     นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวต่อว่า “หากเราจะเปลี่ยนวัฒนธรรมความปลอดภัยทางสังคม ต้องเริ่มที่เด็กๆ เลยดีที่สุด จากการทำงานตามรูปแบบของ ศพด. ได้ผลเกินคาดมาก และคาดหวังว่าอัตราการเสียชีวิตของเด็กเล็กจะลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครอง ครู สถานศึกษา และชุมชนที่จะร่วมปลูกฝังให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยทางถนน”

     นางพรทิพภา สุริยะ ผู้จัดการโครงการขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน สสส. กล่าวว่า “ผลจากการดำเนินโครงการฯ ได้ผลลัพธ์ที่เกินความคาดหมายมาก ทำให้เกิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน 17 แห่ง ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้เพียง 8 แห่งเท่านั้น”

     “นอกจากนี้ยังเกิดรูปแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนใน 3 ด้าน คือ 1. ด้านการจัดการจุดเสี่ยงโดยการมีส่วนร่วมจากชุมชน 2. ด้านการจัดการพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งพบว่าครู เด็กเล็กและนักเรียนเกิดพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากเดิมที่มีการสวมหมวกนิรภัยเฉลี่ย ร้อยละ 1-10 เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 70-100 ขณะที่กลุ่มผู้ปกครองสวมหมวกนิรภัยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 70 และ 3. ผลิตสื่อการเรียนการสอนที่สอดคล้อง สร้างการเรียนรู้ วินัยจราจร อาทิ นิทาน เกม เพลง สื่อท้องถิ่น ทำให้เด็กเรียนรู้จดจำและสื่อสารให้ผู้ปกครองได้เป็นอย่างดี” นางพรทิพภากล่าว

 

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน ดังนี้

1. ครู ผู้ปกครอง สถานศึกษาและชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ ความมั่นใจในเรื่องการจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน ร่วมกันวิเคราะห์และหาแนวทางการแก้ไขปัญหา

2. เกิดแหล่งเรียนรู้สถานศึกษาด้านความปลอดภัยทางถนนต้นแบบ ตั้งแต่ระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ประถม มัธยม ที่สามารถเป็นแบบอย่างให้กับสถานศึกษาอื่นๆ ได้

3. เกิดการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างมีส่วนร่วมและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเด็กเล็ก ครูและผู้ปกครอง โดยการจัดทำข้อตกลง (MOU) ร่วมกันระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนในการสวมหมวกนิรภัย การจัดจุดจอดรับ-ส่ง การจัดพื้นที่ขายของหน้าโรงเรียน การจัดสภาพแวดล้อมด้านกายภาพให้เหมาะสมกับการเรียนรู้และปรับพฤติกรรมในการขับขี่รถ / จอดรถเมื่อมารับส่งลูกหลาน

4. เกิดการทำงานร่วมกันในชุมชน ทั้งจากภาครัฐ สถานศึกษา และประชาชนในการสร้างความปลอดภัยทางถนน

5. หน่วยงานต้นสังกัดเห็นความสำคัญ และนำเรื่องการสร้างความปลอดภัยทางถนนเข้าไปเป็นภารกิจของหน่วยงาน โดยการบรรจุ “ความปลอดภัยทางถนน” เข้าเป็นวาระ / เทศบัญญัติของท้องถิ่น

6. เกิดการเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานอื่นๆ ในการทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษา

     ความปลอดภัยทางถนนในสถานศึกษาเป็นภารกิจที่ สสส. และภาคีเครือข่าย ฯ ให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าการปลูกฝังให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจในความปลอดภัยทางถนนตั้งแต่วัยเด็กเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างจิตสำนึกที่ดี เพื่อมุ่งสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย

-----------------------------------------------

เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้