ปอดเสี่ยง เลี่ยงโควิด-19

Last updated: 29 ม.ค. 2564  |  1148 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปอดเสี่ยง เลี่ยงโควิด-19

     “สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันกันอย่างเคร่งครัด” สิ่งเหล่านี้กลายเป็นชีวิตวิถีใหม่ ที่ทุกคนต้องปฏิบัติเพื่อช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต้องบอกว่า กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวไปเสียแล้ว

    ในแต่ละวัน เชื่อว่าหลายคนลุ้นไปกับการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในประเทศประจำวัน และภาวนาให้ทุกๆ วันตัวเลขเหล่านั้นจะลดน้อยลง และสถานการณ์กลับมาปกติเช่นเดิมโดยเร็ว

    “โควิดตัวร้าย ทำลายปอด” เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเชื้อโรคโควิด-19 จะพุ่งเข้าไปจู่โจมปอดโดยตรง ทำให้เรามีอาการต่างๆ ซึ่งปอดเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการหายใจเข้า-ออก แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนจากสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ระบบเลือดเพื่อหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และขับของเสียออกมาในรูปก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำผ่านลมหายใจออก

     ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า เมื่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เข้าสู่ร่างกาย จุดแรกที่เข้าไป คือ ระบบทางเดินหายใจ และก่อให้เกิดความเสียหายภายในร่างกาย ซึ่งความเสียหายบางอย่างเป็นชั่วคราวแล้วหาย เช่น ปอดอักเสบ หากได้ยารักษาตั้งแต่ต้น ก็จะมีโอกาสหายได้ แต่หากได้รับการรักษาล่าช้า เชื้อจะไปสร้างความเสียหายในปอด และทำให้ปอดไม่พื้นคืนชีพกลับมา เกิดภาวะการหายใจล้มเหลว จนกระทั่งเสียชีวิตในที่สุด

     “กรณีคนปกติที่ปอดทำงาน 100% ในช่วงวัยหนุ่มสาว คนที่ไม่อ้วน ไม่มีโรคประจำตัว สุขภาพแข็งแรง ปอดจะทำงานได้ดี เช่น เมื่อไวรัสเข้าไปจู่โจมระบบทางเดินหายใจ อาจทำลายปอดเพียงแค่ 10-20% เมื่อคนเหล่านี้หายจากการติดเชื้อ ปอดจะกลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่กลับกันหากคนที่ปอดทำงานน้อยลงกว่าปกติ 70% เมื่อถูกทำลายอีก 10-20% จะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของคนกลุ่มนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว 

 
กลุ่มคนที่ปอดทำงานน้อยลงกว่าปกติ

1. ผู้สูงอายุ เมื่ออายุมากขึ้น อวัยวะต่างๆ ในร่างกายจะเสื่อมตามกาลเวลา การทำงานของปอดจะไม่คงประสิทธิภาพ 100% เหมือนสมัยหนุ่มสาว

2. คนที่เคยเป็นโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอด มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง ถ้าปอดถูกทำลายเล็กน้อยก็จะส่งผลต่อชีวิตอย่างมาก ระบบร่างกายจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว

3. คนที่มีน้ำหนักมาก เสี่ยงกับการหายใจที่ยากลำบากมากกว่าเดิม เพราะกระบังลมเคลื่อนไหวได้ยากขึ้น คนที่มีน้ำหนักมากที่น่าห่วงคือ ผู้ที่มีไขมันใต้ผิวหนังหรือใต้ช่องท้องมาก จะทำให้การเคลื่อนของกระบังลมยากกว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อการทำให้ปอดหายใจเต็มที่ได้น้อยลง หมายถึงปอดของคนกลุ่มนี้จะทำงานได้ไม่ 100% แม้จะมีสุขภาพที่ดี


ดูแลปอดให้แข็งแรงทำอย่างไร

1. ไม่สูบบุหรี่ และไม่เข้าใกล้ควันบุหรี่ หลบให้ไกลจากควันพิษ

2. หมั่นออกกำลังกายและหายใจลึกๆ อย่างน้อยวันละ 10 ครั้ง โดยการหายใจให้ถูกวิธี คือ หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ

3. ทำให้ปอดอบอุ่น เวลานอนควรห่มผ้าปิดหน้าอกให้มิดชิด

4. กินผักและผลไม้ ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอด

     “ปอดจะปลอดโรค ปลอดภัย หากเราใส่ใจดูแลสุขภาพ” ว่ากันว่า สุขภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง สสส. อยากเห็นทุกคนมีสุขภาพดี และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มันและเค็ม เพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และงดปัจจัยเสี่ยงอย่างเหล้าและบุหรี่ เพื่อสุขภาวะที่ดี ปอดแข็งแรง และปลอดภัยจากโรคโควิด-19

----------------------------------------------

เรื่องโดย เทียนทิพย์  เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลบางส่วนจาก แผ่นพับ ป(ล)อด บุหรี่ โดย สสส.

ภาพประกอบจาก http://ssss.network/i913h

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้