Last updated: 1 พ.ค. 2564 | 1898 จำนวนผู้เข้าชม |
วันแรงงานแห่งชาติ หรือ May Day ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี ที่ในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กับวันสำคัญอื่นๆ สำหรับวันแรงงานในประเทศไทยถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งตรงกับสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติในปี พ.ศ. 2499 และได้เปลี่ยนชื่อเป็นวันแรงงานในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งในยุคแรกของวันแรงงานนั้น ลูกจ้างยังไม่ได้หยุดงานแต่ใช้เวลาถึง 17 ปี จึงได้ประกาศเป็นวันหยุดให้แรงงานได้หยุดพัก แรงงานที่อยู่ในส่วนของภาคธุรกิจและการบริการ กลุ่มลูกจ้างและพนักงานเป็นกำลังหลักในการดำเนินกิจการให้เกิดการผลิต การแจกจ่ายสิ้นค้า บริการ ช่วยสร้างรายได้ นับได้ว่าแรงงานมีความสำคัญในฐานะที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อธุรกิจมีแรงงานที่มีประสิทธิภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และฝีมือแล้วก็มักจะส่งผลให้ธุรกิจเติบโตไปได้ด้วยดี ซึ่งถือได้ว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยเกื้อหนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นวิกฤตที่สร้างผลกระทบให้กับเศรษฐกิจ ประชาชนไปทั่วโลก รวมถึงกระทบไปยังแรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบ ความน่ากลัวและอันตรายของโรคนี้คือการที่คนที่ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อเนื่องจากไม่แสดงอาการ และเป็นพาหะของโรคอยู่ ใช้ชีวิตแบบเดิมตามปกติ จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคต่อไปให้ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว จนในที่สุดการควบคุมโรคในภาพรวมจึงกระทำได้ยาก ส่งผลกระทบวงกว้างไปยังด้านเศรษฐกิจ สังคมและการดำเนินชีวิต รวมถึงภาคส่วนต่างๆไม่เว้นแต่ภาคส่วนของธุรกิจ ทำให้ภาคธุรกิจซบเซา บางแห่งไม่มียอดการผลิตจนมีผลให้ปิดกิจการ และบางแห่งมียอดการผลิตลดน้อยลง บริษัทขาดรายได้ จึงต้องหาทางออกด้วยการลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆลง เพื่อประคับประคองให้สัดส่วนของผลกำไรยังคงเดิม โดยเฉพาะการเพิ่มผลิตภาพที่ทำน้อยได้มาก การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังหมายรวมถึงการปรับลดพนักงาน ลดการทำงานล่วงเวลา ปรับลดเงินเดือนของพนักงานทุกระดับ และสิ่งที่ตามมา คือ คนทำงาน พนักงานหรือแรงงานในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วิถีชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป รายได้ที่หายไป แต่รายจ่ายที่ไม่ได้หายตาม บางคนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ไหว ถึงขั้นป่วยใจ วิตกกังวล เครียด จนเกิดปัญหาสุขภาพจิต (Mental Health) ตามมาได้ในอนาคต ดังนั้นถ้าเราอยากรอดเราต้องเปลี่ยนตาม สร้างห่วงโซ่ของความอยู่รอดใหม่ เปลี่ยนพฤติกรรมความเคยชินเดิม ๆ ปรับสมดุลการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ลด ละสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต มุ่งสร้างสุขภาวะของตนเองให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ที่สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วย 3 ส นี้
สร้างภูมิคุ้มกันทางกาย สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ไม่สูบบุหรี่ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานปรุงสุก เน้นอาหารจำพวกผัก ผลไม้ ธัญพืช และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวน้อย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
สร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ปรับอารมณ์ การตั้งสติ ผ่อนคลายความเครียด ปรับความคิด คิดในมุมบวก มองให้ลึกถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เติมศรัทธาในตนเอง เชื่อว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออก
สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม เริ่มต้นจากการเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล สนับสนุนให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นึกถึงใจเข้าใจเรา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน
11 เม.ย 2566
25 เม.ย 2566
28 เม.ย 2566