Last updated: 30 เม.ย 2565 | 932 จำนวนผู้เข้าชม |
ช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น ซึ่งผลักดันให้กลายเป็นวันสำคัญจนมาถึงทุกวันนี้ ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2432 แรงงานในสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงการทำงานสูงสุดวันละ 8 ชั่วโมง รวมถึงให้ทบทวนสิทธิของแรงงานด้านอื่นตามความเหมาะสม กลายเป็นการชุมนุมที่จัตุรัสเฮย์มาเก็ต และสุดท้ายจบลงด้วยการปะทะระหว่างแรงงานกับตำรวจส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทั่วโลกยกย่องความกล้าหาญของการต่อรองครั้งนั้นระหว่างขบวนการแรงงานและรัฐบาล จึงมีการกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานสากล หรือที่เรียกว่า เมย์เดย์ (May Day) (ไทยรัฐออนไลน์, 2564) ซึ่งสมัยก่อนประเทศในแถบยุโรปจะนับว่า วันเมย์เดย์ (May Day) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ในหน้าเกษตรกรรม จึงได้จัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงเพื่อขอให้เทพเจ้าช่วยดลบันดาลให้การปลูกพืชเป็นไปด้วยดี (วรนุช อุษณกร, 2543)
จากเรื่องราวดังกล่าวแสดงให้เห็นนอกจากค่าตอบแทนแล้วสิ่งที่แรงงานต้องการ คือ สุขภาวะการทำงานที่เหมาะสม โดยหากมีสถานที่ทำงานที่เหมาะสมจะมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพแรงงานให้แข็งแรงทั้งทางกายและใจ
หากแรงงานมีสุขภาพกายที่แข็งแรง และสุขภาพจิตที่ดี สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ตามมาคือ
- มีส่วนช่วยส่งเสริมผลิตผลให้ดีขึ้น
- ลดรายจ่าย จากค่ารักษาพยาบาล และค่าบำรุงรักษาพื้นที่ ในสถานประกอบการ
- ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคมในองค์กรที่เรามักเรียกว่า Corporate Social Responsibility หรือ CSR
ความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อม ทั้งที่บ้านของแรงงาน และในโรงงานของสถานประกอบการ
สิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ เป็นหนึ่งในกระบวนการที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องการจัดการด้านสุขภาพ และควบคู่กับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อผู้ที่สูบ และไม่สูบบุหรี่ โดยมุ่งเน้นคือ
1. การจัดการพื้นที่ ที่เหมาะสม
1.1 พื้นมีที่คนสูบ
จัดพิ้นที่สูบบุหรี่ให้กับผู้สูบ เพื่อให้เป็นสัดเป็นส่วน สามารถควบคุมการกระจายตัวของควันบุหรี่มือสอง มือสามได้ และพื้นที่สูบควรมีอุปกรณ์ที่ช่วยเรื่องการส่งเสริมการเลิกบุหรี่ เพื่อช่วยให้ส่งเสริมการเลิกบุหรี่ในเวลาเดียวกัน
1.2 พื้นที่ปลอดภัยของคนไม่สูบ
สภาพแวดล้อมที่ไม่มีควันบุหรี่นับว่า เป็นการป้องกัน การเกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่ตามมาจากบุหรี่มือสอง และปกป้องผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ ไม่ส่งกลิ่นรบกวนผู้ที่เดินทางสันจรไปมา ภายในสถานประกอบการ
1.3 พื้นที่น่ามอง
เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทัศนวิสัยในการมอง เพราะบางพื้นที่ เราจะพบคราบเขม่าจากควันบุหรี่ หรือแม้กระทั่ง ก้นกรองบุหรี่ที่ตกตามพื้น ทำให้พื้นที่ดูสกปรก ไม่เจริญหูเจริญตา และยังส่งกลิ่นฟุ้งกระจายในพื้นที่หากไม่มีการจัดการที่ดี อาจจะเป็นพื้นที่ก่อโรคได้เช่นกัน
1.4 พื้นที่ดูแลง่าย
หากมีการสูบบุหรี่ตามพื้นที่ทั่วไปนอกจากจะส่งผลทางสุขภาพ ผลที่ตามมาคือการจัดการขยะที่เหลือจากการสูบ ไม่ว่าจะเป็นซองบุหรี่ พลาสติกใสห่อซอง ก้นกรองที่เหลือจากการสูบ หรือแม้กระทั่งขี้บุหรี่ สิ่งเรานี้นอกจากจะมีสารเคมีจำนวนถึง 4000 ชนิดแล้ว ยังมีผลต่อระบบการจัดการภายในโรงงานด้วย ยกตัวอย่าง
- หากมีการแอบสูบในห้องน้ำ ขยะเหล่านี้อาจจะไปอุดตัน สุขภัณฑ์ห้องน้ำ เช่น โถปัสสาวะชาย ที่จะมีก้นกรองบุหรี่อุดตัน หรือคราบบุหรี่ที่พื้นห้องน้ำ จะเป็นคราบเหลือที่ถ้าปล่อยไว้นานไม่สามารถล้างออกได้ด้วยน้ำเปล่า ปัญหาที่ตามมาคือ ต้องใช้สารเคมีในการทำความสะอาดทำให้สิ้นเปลืองเงินไปโดยสูญเปล่าในส่วนนี้
- ระบบบำบัดน้ำเสียภายในโรงงานอุตสาหกรรมหากมีการหลุดรอดของก้นกรองบุหรี่เข้าสู่ระบบ จะส่งผลต่อระบบเครื่องจักรนั้นเสียหายและอาจทำให้ต้องเสียค่าบำรุงรักษาระบบเพิ่มขึ้นด้วย
2. การส่งเสริมสุขภาพแข็งแรง
2.1 ส่งเสริมการลดละเลิกบุหรี่
หากจะว่าด้วยเรื่องกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ เราจะกล่าวอ้างถึงพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 (มีผลใช้บังคับวันที่ 4 กรกฎาคม 2560) มาตรา 44 สภาพและลักษณะเขตสูบบุหรี่ ข้อที่ 4 ที่ต้องมี การแสดงสื่อรณรงค์เพื่อการลด ละ เลิกการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนําของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ แสดงให้เห็นว่ายังต้องมีการใช้สื่อในการรณรงค์อย่างแน่นอน
2.2 สุขภาพดีปลอดภัยจากบุหรี่มือสอง
เป็นเรื่องที่เป็นผลตามมาในเชิงบวกอย่างแน่นอน เพราะต้องมีการจัดพื้นห้ามสูบโดยใช้ข้อกำหนดทางกฎหมาย พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 (มีผลใช้บังคับวันที่ 4 กรกฎาคม 2560) มาตรา 41 การกำหนดเขตปลอดบุหรี่ เป็นการควบคุมเพื่อป้องกันการเกิดนักสูบหน้าใหม่ ผลกระทบจากควันบุหรี่ มือสอง
2.3 สุขภาพจิตที่ดีขึ้นของพนักงาน
เป็นเรื่องดีต่อทุกฝ่าย กล่าวคือ
- หากผู้ที่สูบบุหรี่ สามารถเลิกบุหรี่ได้ “สุขภาพกายที่เข้มแข็ง มาพร้อมกับสุขภาพจิตที่แข็งแรง” ไม่ต้องมาเครียดว่าจะมีเงินซื้อบุหรี่ไหม และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลจากการสูบบุหรี่ มาพร้อม
- หากผู้ไม่สูบอยู่แล้ว จะรู้สึกดีตรงที่สภาพแวดล้อมเหมาะสมในการทำงาน ไม่มีกลิ่นมารบกวนสุขภาพจิต ไม่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างผู้ที่สูบ กับ ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น ๆ ขององค์กร ที่มุ่งเน้นให้พนักงานมีความรัก ความสามัคคีกันในองค์กร
2.4 พื้นที่ส่งเสริมความสุข
หากเรามีการจัดพื้นที่แล้วนั้นหมายความว่า ทางสถานประกอบการจะได้เห็นว่ามีพื้นที่ไหนที่ ไม่เกี่ยวข้องและสามารถต่อยอด สร้างสาธารณะประโยชน์ หรือสร้างความสุขให้กับพนักงาน เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใน หรือแสดงออกถึงความใส่ใจ ของทางสถานประกอบที่อยากจะดูแล ส่งเสริมให้สุขภาพกายที่ดี และสุขภาพใจที่เป็นสุข
สุดท้ายนี้เราหวังว่า วันแรงงาน นอกจากจะเป็นวันหยุดแล้วยังเป็นวันที่สร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้บุคคลทั่วไปผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารทุกภาคส่วน ร่วมถึงผู้บริหารในองค์กร รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ได้สารประโยชน์มากมาย ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสร้างทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ที่มีในปัจจุบัน ซึ่งหากหากสถานประกอบการได้ให้ความสำคัญกับการมุ่งเน้นสุขภาพ และสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่เข้าร่วมด้วยจะยังประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพแรงงานในระยะยาวได้เป็นอย่างดี
------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง
- ไทยรัฐออนไลน์. (2564). ประวัติความเป็นมา "วันแรงงานแห่งชาติ" 1 พ.ค. มีความสำคัญอย่างไร?. จากเว็ปไซต์ https://www.thairath.co.th/lifestyle/culture/1832869. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายา 2565
- Snook, (ม.ป.ป.), วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม วันแรงงานสากล. จากเว็ปไซด์ http://event.sanook.com/day/mayday/. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายา 2565
- วรนุช อุษณกร. (2543). ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์. สำนักหอสมุดกลาง
- มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากเว็ปไซด์ https://www.lib.ru.ac.th/journal/may/may01- DayForLabour.html. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 เมษายา 2565
- กรมควบคุมโรค และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (2560). พระราชบัญญัติควบคุม ผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560.
จากเว็ปไซด์ https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/932420191120044709.pdf สืบค้นเมื่อ วันที่ 29 เมษายา 2565
#โครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพ #แรงงานสุขภาพดี #เดินหน้าเพื่อสุขภาวะที่ดีของแรงงาน #คณะทำงานสร้างเสริมสุขภาพแรงงาน
---------------------------------------------------------------------------
ผู้เขียน นายเรวัต ยิ้มวิไล เจ้าหน้าที่ประสานงาน ฝ่ายโครงการพัฒนาสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพ
สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
11 เม.ย 2566
25 เม.ย 2566
28 เม.ย 2566