ส.ส.ส. ผนึกกำลัง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายในจังหวัดชลบุรี สร้างสิ่งแวดล้อมดี ควันบุหรี่เป็นศูนย์ ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี

Last updated: 27 พ.ค. 2565  |  569 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ส.ส.ส. ผนึกกำลัง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายในจังหวัดชลบุรี สร้างสิ่งแวดล้อมดี ควันบุหรี่เป็นศูนย์ ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี

     ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00 -12.00 น. ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ อาคารอมตะเซอร์วิสเซ็นเตอร์ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ส.ส.ส.) ได้ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) สมาคมนักทรัพยากรมนุษย์ อมตะนคร บ.ซันคอล ไฮพรีซิชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และบ.ทสึจิมา (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรมเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม 2565 ภายใต้แนวคิด “นิคมอุตสาหกรรมร่วมใจ สรรค์สร้างสิ่งแวดล้อมดี ควันบุหรี่เป็นศูนย์” โดยภายในงานประกอบด้วยการจัดนิทรรศการ “บุหรี่...ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม” และการเสวนา “สานพลังสรรค์สร้างสิ่งแวดล้อมดี ควันบุหรี่ในอมตะซิตี้เป็นศูนย์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ของสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ต่อความสำคัญของการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอด (ควัน) บุหรี่ในสถานที่ทำงาน และแนวทางในการจัดสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้ปลอด (ควัน) บุหรี่ตามที่ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่ได้ประกาศใช้ไปแล้ว

     โดยคุณธาดา สุนทรพันธุ์ รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 2) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานในพิธีเปิดงานฯ ได้กล่าวถึงการห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ของสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ซึ่งส่วนหนึ่งได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว การขับเคลื่อนให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เป็นนิคมอุตสาหกรรมปลอด (ควัน) บุหรี่ ก็น่าจะไม่ใช่เรื่องยาก และการจัดกิจกรรมในวันนี้ ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่ตัวแทนของหน่วยงานต่างๆ จะได้รับฟังข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างสิ่งแวดล้อมดี...ควันบุหรี่เป็นศูนย์ และได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงของสถานประกอบการที่มีการทำงานด้านนี้ไปแล้ว นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังชาวอมตะซิตี้ ให้มาดูแลพื้นที่ในหน่วยงานตนเอง จัดเขตปลอดบุหรี่ และเขตสูบบุหรี่ตามแนวทางที่ได้เรียนรู้จากการเสวนา
     ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้กล่าวในช่วงปาถกฐาพิเศษ ถึงผลกระทบของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพของเรา และในปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้ชูประเด็น “ยาสูบ...ภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม” นั่นหมายถึงว่า บุหรี่...นอกจากจะทำลายสุขภาพแล้วยังทำลายสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ 17.4% มีประชากรวัยทำงานจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ รวมทั้งนักสูบหน้าใหม่ที่ตกเป็นเหยื่อของการตลาดจากบริษัทผลิตบุหรี่ที่ได้เข้าถึงกลุ่มเยาวชนได้หลากหลายช่องทาง จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายช่วยกันหยุดยั้งภัยคุกคามนี้
     สำหรับการเสวนาหัวข้อ “สานพลังสรรค์สร้างสิ่งแวดล้อมดี ควันบุหรี่ในอมตะซิตี้เป็นศูนย์” ได้จัดให้มีภาคีเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัดชลบุรี ร่วมกันนำเสนอเกี่ยวกับการขับเคลื่อนให้นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ปลอดจากควันบุหรี่ โดยเริ่มต้นด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอด (ควัน) บุหรี่ในสถานประกอบการ
     โดยคุณภราดร ศรีปะโค เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี (สสจ.ชลบุรี) ได้กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดชลบุรีมีนโยบายควบคุมยาสูบระดับจังหวัดและมีการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่กับยุทธศาสตร์ควบคุมยาสูบ โดยนอกจากจะมีการบังคับใช้กฎหมาย ยังเน้นที่การป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยได้มุ่งเป้าไปที่เยาวชนในสถานศึกษา ซึ่งถือเป็นวัยที่มีความเสี่ยงและเป็นกลุ่มที่มีโอกาสจะเป็นนักสูบหน้าใหม่และกลายเป็นแรงงานที่ติดบุหรี่ในอนาคต ในส่วนของยุทธศาสตร์ลดจำนวนนักสูบ ผู้ติดบุหรี่ที่ต้องการเลิกสูบ สามารถใช้บริการจากระบบบริการเลิกบุหรี่ ในโรงพยาบาลชุมชนในอำเภอต่างๆ ซึ่งกรณีของนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี มีบางส่วนอยู่ในเขตอำเภอพานทอง ก็สามารถไปใช้บริการที่คลินิกอดบุหรี่ของ โรงพยาบาลพานทองได้ นอกจากนี้ในส่วนของสถานประกอบการ ทาง สสจ.ชลบุรี ยังมีโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมสถานประกอบการปลอดบุหรี่ ซึ่งจะได้ทำงานร่วมกันกับหน่วยงานในวันนี้
     ทางด้านการจัดสภาพแวดล้อมให้ปลอดจากควันบุหรี่ คุณสุทธิพร บู่ทอง นิติกร สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ได้นำเสนอเกี่ยวกับสถานการณ์การสูบบุหรี่ในประเทศไทย ซึ่งผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มวัยทำงาน การจัดสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานให้ปลอดควันบุหรี่ โดยการจัดเขตปลอดบุหรี่หรือเขตสูบบุหรี่ ตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ได้กำหนดไว้ นอกจากจะมีส่วนช่วยคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่แล้ว ยังส่งผลทางอ้อมให้ผู้ติดบุหรี่อยากเลิกสูบบุหรี่จากความไม่สะดวกของสถานที่สูบอีกด้วย
ในขณะที่ คุณอชรายุ แสงวิโรจน์กุล ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัททสึจิยา (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งถือเป็น 1 ใน 11 สถานประกอบการต้นแบบด้านการสร้างเสริมสุขภาพพนักงาน ที่เคยได้รับการประเมินจากโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพแรงงานในสถานประกอบการ สมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้เล่าเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านนี้ของบริษัทฯ ที่มีสิ่งสำคัญคือผู้บริหารของบริษัทมีนโยบายและสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพของพนักงาน ทางทีมงานได้มีการทำงานด้านนี้โดยบูรณาการกับประเด็นยาเสพติดที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ หลังจากที่ได้ร่วมงานกับโครงการฯ ก็ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานที่มาจากหัวหน้าแผนกหลายแผนกมาวางแผนร่วมกัน ได้มีการกำหนดเขตปลอดบุหรี่ และจัดเขตสูบบุหรี่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนั้นยังมีการค้นหาผู้ติดบุหรี่ ช่วยในการบำบัดและติดตามผล โดยมีโรงพยาบาลพานทอง ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ ตลอดจนเครื่องมือช่วยเลิกอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา มีพนักงานสามารถเลิกบุหรี่ได้จำนวน 5 ราย จากผู้เข้าร่วมโครงการลดละเลิก รวมทั้งสิ้น 35 ราย
     คุณคุณอัครเรศร์ ชูช่วย นายกสมาคมนักทรัพยากรมนุษย์ อมตะนคร ได้แสดงมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านนี้ว่า ขณะนี้เหมือนจะทราบกันหมดแล้วว่า Key Success คืออะไร หรือ Know How ต่างๆ ก็รู้หมดแล้ว แต่บางคนก็ยังไม่ปรับพฤติกรรม เปรียบเทียบกับเรื่องโควิด 19 ที่คนไทยร่วมกันปรับอย่างเป็นอันหนึ่งเดียวกัน จึงคิดว่าในเรื่องนี้ ควรจะทำให้คนไทยได้เห็นว่าบุหรี่เท่ากับไม่รักษาสุขภาพ และการรักษาสุขภาพเป็นการออมระยะยาว ในส่วนของการขับเคลื่อนในอมตะซิตี้ บริษัทจะเน้นที่ความยั่งยืน จึงมีคำถามว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้การทำโครงการลักษณะแบบนี้มีความยั่งยืน การขับเคลื่อนให้สถานประกอบการส่วนใหญ่มาสนใจงานด้านนี้ ซึ่งขณะนี้อาจจะยังวิ่งสวนทางกันระหว่างผู้สร้างเครื่องมือกับผู้ใช้เครื่องมือ จึงขอแนะนำว่า เราอาจจะต้องหา Pain Point ซึ่งส่วนตัวมองว่า สถานประกอบการส่วนใหญ่ต้องการทำตามกฎหมาย ดังนั้นหากได้มีการรับทราบเกี่ยวกับแนวทางการทำตามกฎหมาย โดยเฉพาะการมี Best Practices ให้เห็น และมีพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อสถานประกอบการ
     สำหรับคุณวิชชุดา สีมาขจร ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ได้กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จัดเป็นนิคมฯ ที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย โดยสถานประกอบการในนิคมฯ ส่วนใหญ่ประกอบกิจการด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนตัวสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมฯ มีหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามพ.ร.บ.การนิคมฯ สำหรับการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ ทางสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมฯ ยินดีที่จะสนับสนุน โดยสามารถเป็นสะพานเชื่อมกับสถานประกอบการ ให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานทางด้านนี้ โดยเห็นว่าการรณรงค์พื้นที่ปลอดควันบุหรี่จะช่วยให้พนักงานได้รับการคุ้มครองทางสุขภาพ ตลอดจนช่วยให้สถานประกอบการลดความเสี่ยงด้านอัคคีภัย ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับ ขณะนี้ พบว่า มีสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ได้เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว 27 แห่ง และได้รับการประเมินเป็นสถานประกอบการสร้างเสริมสุขภาพต้นแบบแล้ว 11 แห่ง
     ดร.ศันสนีย์ กีรติวิริยาภรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบการ และอุปนายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานประสานความร่วมมือในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้กล่าวปิดท้ายการเสวนา ถึงความจำเป็นของการสรรค์สร้างสิ่งแวดล้อมดี ควันบุหรี่ในอมตะซิตี้เป็นศูนย์ ว่า จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานหลายฝ่าย ตั้งแต่ในระดับสถานประกอบการที่ต้องดำเนินงานร่วมกันทั้งในส่วนของผู้บริหาร คณะทำงาน และพนักงาน ในขณะที่ในระดับของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี บ.อมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) สมาคมนักทรัพยากรมนุษย์ อมตะนคร และหน่วยงานทั้งทางด้านส่งเสริมสุขภาพและสวัสดิการแรงงานในจังหวัดชลบุรี จึงจะสามารถขับเคลื่อนให้ อมตะซิตี้ เป็นนิคมอุตสาหกรรมปลอดควันบุหรี่ตามเป้าหมาย
     ซึ่งหลังการเสวนา ได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ส.ส.ส.) มอบชุดเครื่องมือในการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ให้แก่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และบ.อมตะคอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งได้กล่าวถึงบทบาทของ ส.ส.ส. ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมสุขภาวะ เพื่อความมั่นคงของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ และการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ เป็นประเด็นที่ ส.ส.ส. ให้ความสำคัญ จึงถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ได้ให้ความสำคัญในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ และขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

-------------------------------------------------------------------------

สามารถติดตามบรรยากาศงานย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/dg4WeOZP8-/

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้