ปัจจัยความสำเร็จของการสร้างสถานประกอบการปลอดบุหรี่

Last updated: 19 ต.ค. 2565  |  1569 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปัจจัยความสำเร็จของการสร้างสถานประกอบการปลอดบุหรี่

     สถานประกอบการเป็นสถานที่ที่คนจำนวนมากอยู่ร่วมกันในช่วงเวลาหนึ่งเพื่อประกอบกิจการตามภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบในฐานะพนักงานสถานประกอบการในตำแหน่งหรือระดับต่างๆ จากการที่ต้องอยู่ด้วยกันอย่างน้อย 8 ชั่วโมงใน 1 วัน 5-6 วันต่อสัปดาห์ ทำให้พนักงานส่วนหนึ่งที่ติดบุหรี่ จำเป็นต้องมีการสูบบุหรี่ในที่ทำงาน ซึ่งนอกจากจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญและเป็นอันตรายต่อสุขภาพของพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ จากการได้รับควันบุหรี่ในสิ่งแวดล้อมแล้ว พฤติกรรมการสูบบุหรี่ของพนังกงานที่ติดบุหรี่ ยังอาจส่งผลต่อการชักนำให้พนักงานบางส่วนที่ไม่เคยสูบบุหรี่กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ได้อีกด้วย อีกทั้งการทำให้พนักงานที่ติดบุหรี่สูบบุหรี่ในพื้นที่ที่หน่วยงานจัดให้ หรือเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาดนั้น ยังเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนักและต้องอาศัยเวลา เนื่องจากเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ต้องอาศัยการขัดเกลาทางความคิด สร้างเจตคติใหม่ ลงมือปฏิบัติจนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้



     ดังนั้น การพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ นอกจากจะต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก (พนักงานทุคนในสถานประกอบการ) ที่มีลักษณะที่แตกต่างกันระหว่างพนักงานที่สูบและไม่สูบบุหรี่ ผู้บริหารและพนักงงานระดับปฏิบัติการ ยังเป็นเรื่องที่จะต้องทำหรือขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพฤติกรรมที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (Dynamics) ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของพนักงานที่สูบบุหรี่ หรือพฤติกรรมของพนักงานที่ไม่สูบบุหรี่ทำให้การควบคุมการสูบบหรี่จะต้องทำบนพื้นฐานความคิดที่ว่า หากสถานประกอบการใดหวังผลให้เกิดภาวะปลอดบุหรี่ในที่ทำงานได้ 100% อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จำเป็นต้องมีการดำเนินการด้านการควบคุมการสูบบุหรี่ โดยเน้น

1. การทำแบบมีส่วนร่วม
    การควบคุมการสูบบุหรี่หรือการสร้างภาวะปลอดบุหรี่ในที่ทำงานต้องอาศัยความพร้อมและความร่วมมือจากพนักงงานทุกคน (ตั้งแต่ผู้บริการ/เจ้าของจนถึงระดับปฏิบัติการ/แรงงาน) ในการร่วมกันดำเนินการ ตั้งแต่การร่วมกันกำหนดนโยบายสถานประกอบการปลอดบุหรี่ กำหนดมาตรการ และการจัดทำแผนปฏิบัติการสถานประกอบการปลอดบุหรี่ การสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดบุหรี่โดยพนักงานทั้งหมดในสถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานที่สูบหรือไม่สูบ การร่วมกันหาความรู้หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ หรือช่วยกันสนับสนุนและช่วยให้พนักงานที่ติดบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ จนในที่สุดร่วมกันชื่นชมและภาคภูมิใจต่อความสำเร็จในการเป็น สถานประกอบการปลอดบุหรี่ 100% พร้อมทั้งรักษาภาวะปลอดบุหรี่นี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่เกิดผลสำเร็จได้ คือ การสร้างความต้องการและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสถานประกอบการปลอดบุหรี่ให้เกิดขึ้น มากน้อยแตกต่างกันไปตามบทบาทหน้าที่ของพนักงานแต่ละคน



2. การทำอย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการร้อยเรียงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
     โดยเริ่มจากการมีนโยบาย เป้าหมาย กรอบแนวคิดที่ชัดเจน เป็นที่รับรู้ของผู้บริหารจนถึงพนักงานในระดับปฏิบัติการ โดยเฉพาะคณะทำงานฯ จะต้องเข้าใจตรงกันตามกรอบแนวคิดดังกล่าว และสามารถผลักดันให้หรือใช้กรอบแนวคิดนี้เป็นหลักในการดำเนินงานที่จะต้องเป็นไปอย่างเป็นขั้นตอน นับตั้งแต่การสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์และพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในที่ทำงานเพื่อวินิจฉัยและแยกแยะปัญหาเร่งด่วนที่เกิดจากการสูบบุหรี่ที่จำเป็นต้องแก้ไข (Problem identification and Definition) การหาสาเหตุของปัญหาและแนวทางแก้ไขโดยคำนึงถึงสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งวัฒนาธรรมของสถานประกอบการตนเอง (ทำให้แนวทางแก้ไขที่เป็นที่เข้าใจตรงกันและเป็นที่ยอมรับของคณะทำงานฯ ทุกคนว่า จะทำอะไร อย่างไร กับใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ โดยใคร) จนถึงการลงมือทำอย่างมีส่วนร่วม (Implementation) และจัดให้มีการประเมินผล (Evaluation) เพื่อปรับปรุงให้การดำเนินงานดังกล่าวมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปยิ่งขึ้นไปอีก



3.  การทำให้ครบวงจร
     การควบคุมการสูบบุหรี่ในที่ทำงานจะต้องดูแลแก้ไขเป็นองค์รวม มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย สอดคล้องกับสถานการณ์ ปัญหาและพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของพนักงานในสถานประกอบการ ในช่วงเวลานั้นๆและเหมาะสมกับบริบทและสภาวะอื่นๆของสถานประกอบการ เช่น วัฒนธรรมองค์กร ภาวะด้านการผลิตและบริหาร งบประมาณที่มี รวมทั้งความชอบของพนักงาน เป็นต้น โดยกิจกรรมที่จัดจะต้องครอบคลุมตั้งแต่การจัดพื้นที่หรือสภาพแวดล้อม (เป็นการจัดการทางด้านกายภาพ) ให้เอื้อต่อภาวะปลอดควันบุหรี่ (ด้วยการประกาศเขตปลอดบุหรี่และให้มีที่สูบบุหรี่ที่เหมาะสมและถูกต้องตามกฎหมายในระยะแรก) ไปถึงการสร้างระบบสื่อสารให้ความรู้ทุกรูปแบบ (แก่พนักงานงานที่สูบและไม่สูบบุหรี่) เพื่อให้พนักงานทั้งที่สูบและไม่สูบบุหรี่ มีความเข้าใจและตระหนักถึงความจำเป็นในการควบคุมการสูบบุหรี่ในที่ทำงาน และการสนับสนุนให้พนักงานที่ติดบุหรี่เลิกบุหรี่ รวมทั้งจัดกิจกรรมอื่นๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของพนักงานออกไปจากการสูบบุหรี่



4. การทำอย่างต่อเนื่อง
     โดยผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสถานประกอบการ แทนการดำเนินการในลักษณะของโครงการที่มีกรอบระยะเวลาที่จำกัด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า จะต้องทำให้การไม่สูบบุหรี่(ในที่ทำงาน) เป็นวัฒนธรรมองค์กร


ข้อมูลจาก คู่มือถอดรหัสสถานประกอบการปลอดบุหรี่ (ฉบับย่อ) 

สามารถดาวน์โหลดฉบับเต็มได้ที่นี้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้