Last updated: 2 มี.ค. 2566 | 1124 จำนวนผู้เข้าชม |
อะไรที่มองไม่เห็นด้วยตาและเรายังไม่เข้าใจ คือ สิ่งที่น่ากลัวเพราะเราไม่รู้เลยว่าจะหลบหลีกมันเช่นไร เหมือนกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งตราบเท่าที่ PM 2.5 ยังอยู่รอบตัวและส่งผลกระทบต่อสุขภาพเราในระยะยาว วันนี้เรามา รู้ รับ ปรับตัวให้อยู่รอดจาก PM 2.5 กันเถอะ
PM 2.5 คืออะไร และจะรู้ได้อย่างไรว่า ระดับ PM 2.5 อยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย
PM 2.5 คือ อนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนหรือถ้าเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือ เล็กกว่าขนาดของเส้นผม 25 เท่า เล็กมากจนขนาดที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนมาส่องจึงจะเห็น โดยแหล่งกำเนิด PM 2.5 นั้นมักเกิดจากการทำกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ เช่น การคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะฝุ่นเล็กๆที่เกิดจากการเผ้าไหม้เชื้อเพลิงดีเซล การเผาในที่เปิดโล่ง ไฟป่า กระบวนการอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้า
การจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 นั้นสามารถรับทราบผ่านแอปพลิเคชั้นบนมือถือได้โดยสามารถใช้แอปที่ชื่อว่า AirVisual หรือ Air4thai ซึ่งสามารถรับทราบได้แบบวันต่อวัน แสดงค่าฝุ่นให้เห็นชัดในแต่ละพื้นที่ โดยจะแสดงในรูปแบบ ดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) และมีการประมวลผลเป็นระดับสีบอกระดับความปลอดภัยเพื่อเป็นการเตรียมตัวรับมือ
ภาพจาก http://air4thai.pcd.go.th/webV2/aqi_info.php
PM 2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร
ด้วยขนาดที่ว่าอนุภาคของฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมากจนสามารถแทรกซึมเข้าไปถึงส่วนลึกของปอด บางอนุภาคลงลึกเข้าไปในกระแสเลือดเลยทีเดียว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวจนน่าเป็นห่วง
o ผลต่อระบบทางเดินหายใจและปอด ฝุ่น PM 2.5 แทรกซึมอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดโรคหอบหืดกำเริบในคนที่เป็นโรคนี้ และทำให้คนไม่เป็นเสี่ยงที่จะเป็นมากขึ้น นอกจากนี้ฝุ่น PM 2.5 ยังทำให้เซลล์เยื่อจมูกอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการเป็นภูมิแพ้ และในระยะยาวหากมีการสะสมฝุ่นมากๆเข้าอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด
o หากฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่กระแสเลือด จะส่งผลให้เกิดตะกอนภายในหลอดเลือด ส่งเสริมให้เส้นเลือดตีบ มีผลต่อการส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจ มีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เต้นผิดจังหวะ และอาจส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลันได้
o เมื่อฝุ่น PM 2.5 สะสมกระแสเลือดมากๆจะมีผลทำให้เลือดหนืด มีผลต่อความดันโลหิตสูง เสี่ยงต่อการเป็นลิ่มเลือดในสมอง และอาจะเป็นผลให้หลอดเลือกในสมองแข็งตัว เส้นเลือดตีบ และแตกส่งผลให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตและเสียชีวิตในเวลาต่อมาได้
o นอกจากอาการภายในแล้วพบว่าอาการภายนอกร่างกายที่มีผลมาจากฝุ่น PM 2.5 ก็พบเห็นได้เช่นกัน เช่น การระคายเคืองผิวหนัง ผื่นคัน
o สำหรับกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยหรือมีโรคประจำตัว ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะเป็นกลุ่มเปราะบางหากได้รับฝุ่น PM 2.5 สะสมเข้ามากๆมักจะมีอาการรุนแรงและเร็วกว่าคนปกติ
เราจะป้องกันและช่วยกันลด PM 2.5 ได้อย่างไร
o เลือกสวมใส่หน้ากากอนามัยที่เหมาะสมที่สามารถป้องกัน PM 2.5 ได้จริงๆ เช่น หน้ากาก N 95 เมื่อต้องออกนอกบ้าน
o งดกิจกรรมกลางแจ้งระหว่างช่วงที่ PM 2.5 เกินค่าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
o งดทำกิจกรรมการทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เช่น การเผาขยะกลางแจ้ง ลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น รวมถึงการลด เลิก การสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ 1 มวน เท่ากับการสูดฝุ่น PM 2.5 ปริมาณ 22 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/วัน (ข้อมูลจากเว็บ https://www.cmuccdc.org/pmcompare)
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณข้อมูลจาก
· https://www.greenpeace.org/thailand/explore/protect/cleanair/pm25-harm/
· https://adeq.or.th/pm2-5andcovid19/
· http://air4thai.pcd.go.th/webV2/aqi_info.php
· https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/อันตรายจากฝุ่น-PM2-5
11 เม.ย 2566
25 เม.ย 2566
28 เม.ย 2566